CONSENSUS: AOT แพงแล้วยัง? ไปต่อไหวมั้ย?

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 19, 2024 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกประสานเสียงเชียร์ "ซื้อ" หุ้น บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/67 (ม.ค.-มี.ค.67) ดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/67 (ต.ค.-ธ.ค.66) เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน และยังหนุนด้วยนโยบายฟรีวีซ่าไทย-จีนที่จะเริ่ม 1 มี.ค.67 เชื่อว่าจะส่งผลให้ผลประกอบการ AOT ฟิ้นตัวขึ้นได้ดีอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้ง AOT ยังเดินหน้าขยายสนามบินทั้งสุวรรณภูมิ และดอนเมือง รวมทั้งสนามบินหัวเมืองสำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับจำนวนผู่โดยสาร เร่งการเติบโตในระยะยาว แม้ราคาหุ้นตอนนี้ Valuation จะไม่ถูกแล้ว แต่ยังน่าเก็บ โดยการเติบโตของกำไรจะแข็งแกร่งขึ้นหลังโควิด-19 ขณะที่ช่องทางสร้างรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบินก็มีมากขึ้นในอนาคต

          โบรกเกอร์           คำแนะนำ          ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          บัวหลวง               ซื้อ                80.00
          เคจีไอ                ซื้อ                79.00
          ดาโอ                 ซื้อ                79.00
          ฟิลลิป                 ซื้อ                77.00
          เมย์แบงก์              ซื้อ                77.00
          กรุงศรี                ซื้อ                75.00
          พาย                  ซื้อ                74.00
          กรุงศรี พัฒนสิน          ซื้อ                73.25
          ทิสโก้                 ถือ                67.00

นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้น AOT แนวโน้มผลประกอบการจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไตรมาส 2/67 (ม.ค.-มี.ค.67) คาดว่าจะดีกว่าไตรมาส 1/67 (ต.ค.-ธ.ค.66) ที่มีกำไรสุทธิ 4.56 พันล้านบาท จากจำนวนผู้โดยสารทั้งต่างชาติและคนไทยดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 ก.พ.67 ทั้งสิ้น 4,385,390 คน เพิ่มขึ้นถึง 48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

"ไตรมาส 2 จำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นมากกว่าไตรมาส 1 ผลประโยชน์ตกกับ AOT แน่นอน เพราะอยู่ในช่วงปีใหม่และตรุษจีนต่อเนื่องไปถึงมีนาคมที่จะเปิดฟรีวีซ่าไทยจีน"

ผลการดำเนินงานของ AOT เห็นความแข็งแกร่งขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/67 โดยมีกำไรสุทธิ 4.56 พันล้านบาท (+1,231.2% YoY, +33.0% QoQ) คิดเป็น 20% ของประมาณการกำไรเต็มปีของเรา ผลการดำเนินงานโดยรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ กลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทำให้จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กำไรในไตรมาส 1/67 ยังต่ำกว่าประมาณการของเรา 13.2% และต่ำกว่า consensus 10.0% โดยสาเหตุสำคัญ คือรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินต่ำกว่าคาด (ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าเช่าสำนักงานในส่วนของพื้นที่เช่า)

รายได้ในไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 1.57 หมื่นล้านบาท (+78.0% YoY, +2.3% QoQ) มาจากส่วนที่เกี่ยวกับการบิน 45% และส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการบิน 55% (จากไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 49% และ 51% ตามลำดับ) จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 28.9 ล้านคน (+25.5% YoY) แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 16.9 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ 12 ล้านคน

ในระยะต่อไป เรามั่นใจว่าผลประกอบการของ AOT จะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกสองสามปีข้างหน้า เพราะธุรกิจมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ไม่มีข้อจำกัดด้านการเดินทางเหมือนช่วงที่ COVID-19 ระบาด เราคิดว่าพัฒนาการด้านบวกจากการกลับมาเปิดประเทศจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นผลประกอบการของ AOT ในอีกสองสามปีข้างหน้า รวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่แรงขึ้น ซึ่งหนุนโดยการเปิดฟรีวีซ่าระหว่างนักท่องเที่ยวจีนและไทยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567

ดังนั้น ยังคงมองบวกกับแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของทั้งธุรกิจที่เกี่ยวกับการบิน และไม่เกี่ยวกับการบิน โดยเรายังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 67 เอาไว้ที่ 2.27 หมื่นล้านบาท และ ปี FY68F ที่ 2.72 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ยังคงแนะ "ซื้อ" ประเมินราคาเป้าหมาย DCF ที่ 79.00 บาท (ใช้ WACC ที่ 9% และ TG ที่ 3%)

บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนะนำ "ซื้อ" หุ้น AOT จากการฟื้นตัวของผลประกอบการตามดีมานด์การเดินทางที่แข็งแกร่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน) คาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 20% yoy ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.67 จะช่วยหนุนให้กำไรในงวดไตรมาส 2/67 (ม.ค.-มี.ค.67) เติบโตต่อเนื่องทั้ง qoq และ yoy

ขณะที่ราคาหุ้น AOT ปัจจุบันคิดเป็น P/E ปี 67 ที่ 34x ยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดระบาด

ประเด็นสำคัญที่ได้จากการประชุมนักวิเคราะห์ ได้แก่ 1) ต้นทุนเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/67 ค่าเสื่อมราคาที่เกี่ยวข้องกับ SAT-1 เพิ่มขึ้นเป็น 580 ล้านบาทต่อไตรมาส (เดิมคาดไว้เพียง 300 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งตั้งสำรองจ่ายโบนัสพนักงาน

และ 2) AOT ยังคงประมาณการจำนวนผู้โดยสารเต็มปี 67 ที่ 120 ล้านคน (ต่ำกว่าประมาณการของเราที่ 127 ล้านคน แต่เพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านคนในปี 66 โดยขยับเข้าใกล้ 142 ล้านคนในปี 62) ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะผู้โดยสารชาวจีนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาเป็นเฉลี่ย 27,000 คน/วัน (จากเพียง 13,000 คน/วันก่อนจะมีมาตรการยกเว้นวีซ่าไทย-จีน)

AOT มีแผนเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของสนามบินจาก 117 ล้านคนต่อปี เป็น 200 ล้านคนต่อปีภายในปี 73 ได้แก่

1. แผนใช้งบ 1.07 หมื่นล้านบาทในปี 67 สร้าง runway ที่ 3 (6.4 พันล้านบาท) ของสนามบินสุวรรณภูมิและโครงการอื่นๆ

2. ส่วนต่อขยายทางทิศตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิกำหนด COD ปี 70 ทำให้ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านคน จาก 60 ล้านคน

3. ขยายสนามบินดอนเมือง (เฟส 3) กำหนดเสร็จในปี 73 ทำให้ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านคนจาก 30 ล้านคน

4. รับโอนสนามบิน 3 แห่งจากกรมท่าอากาศยาน อาจเกิดขึ้นในปี 67

5. จะจัดเปิดประมูลสัญญาให้บริการภาคพื้นดินที่สนามบินสุวรรณภูมิในปี 67

ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านสนามบินของ AOT ระหว่างวันที่ 1-10 ก.พ.เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 26% yoy เรายังคงมองบวกกับแนวโน้มระยะยาวของ AOT เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนเพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนรายได้จากสัมปทาน และ PSC จึงยังแนะ "ซื้อ" ราคาเป้าหมายปี 67 ที่ 75 บาท (DCF,WACC ที่ 8%) ส่วนความเสี่ยงหลัก ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างขาติอ่อนแอลง และงบลงทุนสูงกว่าคาด

ส่วน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ให้ราคาเป้าหมาย AOT อิง DCF ที่ 77 บาท (WACC 7.0%, Tg 3.0%) คิดเป็น PE ปี 68 ที่ 37 เท่า ปัจจุบัน ซื้อขายที่ Forward P/E ปี 68 ที่ 30 เท่า ต่ำกว่า P/E ย้อนหลังระดับที่ 39 เท่าในปี 62 และ 45 เท่าในปี 61

โมเมนตัมการฟื้นตัวของกำไรคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปตลอดปี 67-68 ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และรายได้สัมปทานสูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือหมดอายุ ผลประกอบการที่น่าผิดหวังในไตรมาส 1/67 (ต.ค.-ธ.ค.66) ต่ำกว่าประมาณการของตลาดไป 9% ถือเป็นโอกาสเข้าสะสมหุ้น เพราะ AOT จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวชาวจีน (73% ในเดือน ก.พ.67 เทียบกับ ก.พ.62) ดาวน์ไซด์ ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงและการยกเลิกร้านค้าปลอดภาษีขาเข้าตามที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อสนับสนุนร้านค้าปลีกในท้องถิ่น

ด้านต้นทุนของ AOT คาดว่าจะทรงตัวตั้งแต่ไตรมาส 1/67 เป็นต้นไป เนื่องจากสวัสดิการพนักงานและค่าเสื่อมราคา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากเทอร์มินัล SAT1 มีแนวโน้มที่จะถึงจุดสูงสุด เราประมาณการค่าเสื่อมราคาที่เกิดขึ้นจาก SAT1 ที่ 585 ลบ./ไตรมาส ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนมากที่ 300 ลบ. เราประเมินรายได้เติบโตจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของผู้โดยสารระหว่างประเทศ (การฟื้นตัวของปริมาณการจราจร84% เทียบกับระดับปีงบประมาณ 2019) และการปรับ PSC ที่จะเกิดขึ้นในปี 68 (780 บาทต่อผู้โดยสารระหว่างประเทศจากตอนนี้ 700 บาท) เพื่อชดเชยแรงกดดันด้านต้นทุน

รายได้ระยะยาวจะได้รับแรงหนุนจากความสามารถในการดำเนินงานที่สูงขึ้นและการขยายสนามบิน คาดว่าการรองรับผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจากปีละ 116 ล้านคน เป็น 173 ล้านคนภายในปี 71 ด้วยงบลงทุน 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะมี EBITDA มากพอนับจากปี 67 เป็นต้นไปเพื่อใช้สนับสนุนโครงการเหล่านี้โดยไม่ต้องใช้แหล่งเงินกู้

ขณะที่ AOT จะได้เข้าบริหารสนามบินอีก 3 แห่ง ได้แก่ กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ ภายในปลายปี 67 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก CAAT

บล.เมย์แบงก์ มองว่า แม้ Valuation ไม่ถูก แต่ก็ยังน่าเก็บ โดยการเติบโตของกำไรจะแข็งแกร่งขึ้นหลังโควิด-19 ระบาด ขณะที่มีช่องทางสร้างรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบินมากขึ้นในอนาคต แต่ P/E ของ AOT ที่ 30 เท่าในปี 68 ก็น่าสนใจ โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 38-45 เท่าในช่วงก่อนเกิดโควิดในปี 61-63 เราเชื่อว่ามีราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยลบส่วนใหญ่ไปแล้ว อาทิ ผลประกอบการไตรมาสไตรมาส 1/67 ที่น่าผิดหวัง ความกังวลเกี่ยวกับการยกเลิกสินค้าปลอดภาษีขาเข้า และมาตรการช่วยเหลือผู้รับสัมปทาน เช่น การขยายเงื่อนไขการชำระเงินและการยกเว้นค่าธรรมเนียม

https://youtu.be/elblPviXd9I


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ