บมจ.เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ (MPJ) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 53,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 26.50% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดหลัง IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมี บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุน เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวของเงินลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าให้เช่า, เพื่อใช้สำหรับปรับปรุงระบบการทำงานในองค์กร และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
กลุ่ม MPJ บริษัทประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร ทั้งการขนส่งทางบกต่อเนื่องกับท่าเรือ การบริหารลานตู้คอนเทนเนอร์ การจัดการขนส่งระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) และบริการคลังสินค้า โดย บมจ.เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ (MPJLO) ให้บริการธุรกิจขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ด้วยรถหัวลากเส้นทางระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการในปี 39 โดย ICD ลาดกระบังเปรียบเสมือนเป็นท่าเรือบก (Dry Port) ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการพักสินค้าเพื่อตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและบรรจุสินค้าขาออกที่ขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ นอกเขตทำเนียบท่าเรือ และยังเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเลระหว่างท่าเรือ มาสู่การขนส่งทางรางรถไฟเพื่อการกระจายสินค้าไปทั่วประเทศและข้ามเขตพรมแดน
ณ วันที่ 30 ก.ย.66 MPJLO มีบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ (1) MPJDC เพื่อประกอบธุรกิจบริการด้านการบริหารการจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ โดย MPJDC มีพื้นที่ลานในการให้บริการจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์เบา (ไม่มีสินค้าบรรจุ) ของผู้ให้บริการสายเรือ เพื่อบริหารการรับหรือปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ให้แก่ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกตามที่สายเรือระบุ
MPJDC จะให้บริการการซ่อมแซมและทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้มาตรฐาน รวมถึงให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) ทั้งทางทะเล (Sea Freight) ทางอากาศ (Air Freight) เพื่อเป็นตัวแทนของลูกค้าในการจองระวางเรือและระวางเครื่องบิน รวมถึงเป็นผู้ช่วยแก่ลูกค้าในการวางแผนและการติดตามการขนส่งระหว่างประเทศให้ถึงจุดหมายได้ตามความต้องการของลูกค้า
นอกจากนี้ ในปี 62 MPJDC ได้เข้าร่วมทุนกับ OOCL Logistics (Hong Kong) Limited ผู้ให้บริการสายเรือ OOCL และ COSCO ในการจัดตั้งบริษัท โอเอ็ม ดีโพ จำกัด (OM) ซึ่ง MPJDC ถือหุ้น 49% และเป็นบริษัทร่วมของบริษัท เพื่อการบริหารการจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ของกลุ่ม OOCL เป็นหลัก
และ (2) MPJWD เพื่อการให้บริการให้เช่าคลังสินค้า สามารถใช้เป็นพื้นที่เป็นในการเก็บสินค้าทั่วไป โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ ลูกค้าที่ต้องการพักสินค้าก่อนการบรรจุตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออก หรือทำกิจกรรมพักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนำเข้าและส่งออก
ณ วันที่ 26 ม.ค.67 โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ นายจีระศักดิ์ มานะตระกูล ถือหุ้น 75% หลัง IPO จะลดลงเหลือ 55.13% กลุ่มครอบครัวลิปตพัลลภ ถือ 15.64% จะลดเหลือ 11.50% และกลุ่มครอบครัววิริยะพานิชภักดี 8.85% จะลดเหลือ 6.50%
ผลประกอบการช่วงปี 63-65 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการของกลุ่ม เท่ากับ 882.61 ล้านบาท 1,014.74 ล้านบาท และ 1,300.27 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ เท่ากับ 55.84 ล้านบาท 65.21 ล้านบาท และ 88.74 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 6.73% 6.30% และ 6.70% ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการ ภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัทฯ