นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 67 บริษัทฯคาดว่าจะมียอดขายยางพาราอยู่ที่ประมาณ 5.1 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 5-10% จากยอดขายปี 66 เนื่องจากบริษัทได้มีการปรับปรุงโรงงาน และครื่องจักรเดิมให้มีประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าใช้งบลงทุนราว 30 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 มีกำลังการผลิต 302,400 ตัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกกำลังการผลิต 172,800 ตัน คาดว่าโรงงานจะสร้างเสร็จปลายปี 67 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 68 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตสินค้ารวมทั้งสิ้น 818,000 ตันต่อปี จากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ 515,600 ตัน เพื่อให้สอดรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ
บริษัทยังวางแผนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรเพื่อรองรับการผลิตที่มากขึ้นในอนาคต ตลอดจนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานเพิ่มเติม โดยปัจจุบันบริษัทฯมีพลังงานหมุนเวียน คือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) และไบโอแก๊สที่ผลิตเพื่อใช้งานเองภายในบริษัท รวมกำลังการผลิต 8 เมกกะวัตต์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานของบริษัทได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของด้าน ESG บริษัทยังคงดำเนินโครงการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านสังคม และมิติด้านบรรษัทภิบาล อาทิ โครงการห่วงโซ่อุปทานเพื่อความยั่งยืน โครงการตลาดสีเขียว โครงการห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ โครงการ NER ร่วมใจลดขยะพลาสติก โครงการตรวจสุขภาพกลุ่มเปราะบาง โครงการส่งสุขความรู้สู่ดวงใจพนักงานผ่านคาราวานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น และจะดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมมากยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปพร้อมกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท
ด้านผลการดำเนินงานปี 66 บริษัทมีปริมาณขาย 497,053 ตัน คิดเป็นรายได้จากการขายรวม 25,045.17 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายในประเทศ 16,259.49 ล้านบาท หรือคิดเป็น 64.92% ของยอดขายรวม และรายได้จากการขายต่างประเทศ 8,785.68 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.08% ของยอดขายรวม ส่วนกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 อยู่ที่ 1,545.60 ล้านบาทหรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 6.17% ของรายได้จากการขายรวม
รายได้จากการขายที่ลดลงเกิดจากสถานการณ์ราคายางที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 65 ราคาขายสินค้ายางเฉลี่ยลดลง 10.71% โดยรายได้ที่ลดลงแบ่งเป็นผลต่างด้านด้านราคาที่ลดลง อยู่ที่ 3,003.90 ล้านบาท และแบ่งเป็นผลต่างด้านปริมาณสูงขึ้นอยู่ที่ 2,875.43 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทฯ มีต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 0.91% โดยต้นทุนวัตถุดิบของบริษัทเพิ่มขึ้นมาจากความผันผวนของราคายาง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบยางเมื่อเทียบกับรายได้