นายเย็บ ซู ชวน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) กล่าวว่า ปี 67 บริษัทมั่นใจว่าจะยังคงสามารถทำรายได้เติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศไทย จากปริมาณคำสั่งซื้อของลูกค้าในประเทศจีน โปรตุเกส และมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงเดินกลยุทธ์มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีสถานะทางการเงินและงบดุลแข็งแกร่ง มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนที่ 0.5 เท่าอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนที่ 1 เท่า และมีเงินสดและเงินฝากประจำ 3,339 ล้านบาท ทำให้มีความพร้อมสำหรับการพิจารณาโอกาสลงทุนใหม่ เพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับสากล
สำหรับผลประกอบการปี 66 ว่าบริษัทมีรายได้รวม 30,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,041 ล้านบาท หรือ 7% เมื่อเทียบกับปี 65 ที่มีรายได้รวม 28,348 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลัก ไม่รวมกำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยน และรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว) จำนวน 1,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59 ล้านบาท หรือ 3.6% เมื่อเทียบกับปี 65 ที่ทำไว้ 1,704 ล้านบาท
จากข้อมูลสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) การผลิตรถยนต์ในประเทศไทยในปี 2566 หดตัวลงประมาณ 2% ในขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์เติบโตประมาณ 12% ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยลดลงประมาณ 9% โดยมีสาเหตุหลักมาจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยที่ชะลอตัว ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ประกอบกับสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะรถปิคอัพได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และมีการประมาณการยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยปี 67 ไว้ที่ 1.9 ล้านคัน เติบโต 3% จากปี 66
อย่างไรก็ตาม อาปิโกยังสามารถทำผลประกอบการทั้งปี 66 ได้ดีกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย จากการเติบโตของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และธุรกิจตัวแทนจำหน่ายและศูนย์การให้บริการรถยนต์ และการดำเนินธุรกิจในประเทศจีน โปรตุเกส และมาเลเซีย ซึงช่วยลดผลกระทบจากสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ทำให้เห็นว่าบริษัทมีจุดแข็งในการกระจายความเสี่ยงเรื่องรายได้ ซึ่งการมีฐานการผลิตในหลากหลายภูมิภาค มีส่วนสำคัญในการลดการพึ่งพารายได้จากประเทศใดประเทศหนึ่ง
ในขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 4/66 บริษัทมีรายได้รวม 7,226 ล้านบาท ลดลง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์ภายในประเทศลดลง 12% และมีกำไรสุทธิหลัก (ไม่รวมกำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยน และรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว) 421 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายการค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างธุรกิจ ได้แก่ การยุติการดำเนินธุรกิจที่ไม่สร้างกำไร จำนวน 76 ล้านบาท รวมถึงรายการแปลงค่างบการเงินที่เคยรับรู้ในส่วนแบ่งกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการขายเงินลงทุนในบริษัท Sakthi Auto Company Limited (SACL) จำนวน 171 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรับรู้การขาดทุนผ่านงบกำไรขาดทุนตามมาตรฐานทางบัญชี แต่ไม่มีผลกระทบต่อส่วนทุนผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ
"อาปิโกได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการทบทวนยุทธศาสตร์ และคอยติดตามผลการดำเนินงานของธุรกิจที่ได้เข้าไปลงทุนอย่างใกล้ชิด จึงตัดสินใจยุติธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและสภาวะตลาดที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างเหมาะสมทั้งในระยะกลาง และระยะยาว" นายเย็บ ซู ชวน กล่าว