INTERVIEW: เปิดขวดแก้ว BGC ฉีกตำราด้วยวิชั่นใหม่ ลุย M&A วิ่งสู่เป้า 2.6 หมื่นล้าน!!

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 1, 2024 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) ตัวพ่อบรรจุภัณฑ์แก้วเร่งปั๊มยอดขายพุ่งแตะ 26,000 ล้านบาทภายในปี 69 ผ่านกลยุทธ์ Total Packaging Solution ที่ไม่ได้ขายแก้วเพียงอย่างเดียว แต่เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว มีทั้งฉลากสินค้า กล่องกระดาษ และถุงเพาซ์ (Retort Pouce) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์มาแรง พร้อมเสิร์ฟลูกค้าแบบ One Stop Service !!

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGC ตั้งเป้ายอดขายปี 69 ที่ 26,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มียอดขายปี 66 อยู่ที่ 15,116.30 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์ "Total Packaging Solution" ที่พร้อมให้บริการบรรจุภัณฑ์กับลูกค้าอย่างครบวงจร ไม่ใช่แค่การรับผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วเพียงอย่างเดียว

"เวลาทีมงานออกไปขายสินค้า เราไม่ได้ขายเฉพาะขวดแก้ว อยากจะให้ลูกค้าซื้อขวดแก้วเสร็จ ก็สามารถซื้อฉลาก หรือบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราก็จะเป็นเหมือน One Stop Service ให้กับลูกค้า" นายศิลปรัตน์กล่าว

และจากกลยุทธ์ดังกล่าวคาดว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนแปลงไป จากปัจจุบันที่ยอดขายบรรจุภัณฑ์แก้วอยู่ที่ 85% และยอดขายบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ที่ 15% ก็จะขยับเป็นยอดขายบรรจุภัณฑ์แก้ว 60% และยอดขายบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ที่ 40%

สอดคล้องไปกับการประเมินตลาดบรรจุภัณฑ์ในอนาคต โดยปี 67 คาดว่าตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วคงเติบโตในอัตราไม่มากนัก ขณะที่บรรจุภัณฑ์ที่เติบโตมาได้ค่อนข้างแรง คือ ถุงเพาซ์ ทุกวันนี้เห็นในทุกกลุ่มสินค้า ทั้งขนม อาหาร น้ำยาปรับผ้านุ่ม แชมพู น้ำยาล้างจาน หรืออาหารสัตว์เลี้ยง

"ที่ถุงเพาซ์มาแรงกว่าตลาดอื่นเพราะต้นทุนถูกกว่า ขนส่งง่ายกว่า ไม่บุบ ไม่แตก และทำรูปลักษณ์ให้สวยงามได้ง่าย ที่สำคัญเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ทำให้สินค้าในถุงเพาซ์มีอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น รวมถึงพัฒนาให้เป็นถุงที่ไรไซเคิลได้ง่ายขึ้นด้วย" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าว

"ปีนี้คาดว่าจะเห็นดีล M&A ออกมาราว 2-3 ดีล ซึ่งเป็นดีลเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังผลิตในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่แก้วตามกลยุทธ์ที่เราอยากจะ Diversify สินค้าไม่ใช่พึ่งพิงแค่แก้วอย่างเดียว ดังนั้นถ้าเราจะต้องเติบโตในบรรจุภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่แก้ว ถ้าสร้างโรงงานอย่างเดียวคงไม่ทัน เพราะฉะนั้นต้องมีดีล M&A อยู่ด้วย" นายศิลปรัตน์กล่าว

แม้ว่าจะมองโอกาสขยายธุรกิจใหม่ แต่ปี 67 บริษัทก็ยังคงเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพารผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วที่ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หลัก โดยตั้งงบลงทุนรวมราว 1,200 ล้านบาท ซึ่ง 800 ล้านบาทจะใช้ซ่อมเตาหลอมแก้วที่โรงงาน จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นการบำรุงรักษาตามการใช้งานทุก 12-15 ปี และเงินลงทุนอีก 300-400 ล้านบาทใช้ปรับปรุงโรงงานอื่น ๆ ที่เหลือ

https://youtu.be/Orpf9NJB1_Q


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ