ONEAM มองบวกหุ้นไทยปี 67 ให้เป้า SET ที่ 1,525 จุด เน้นเลือกรายกลุ่มตามวัฎจักรเศรษฐกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 11, 2024 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ (ONEAM) ระบุว่า ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในปี 67 เชื่อว่าจะปรับขึ้นไปได้แต่อาจจะไม่โดดเด่นเท่าช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว โดยระยะสั้น ยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม นอกจากความหวังว่าภาคเศรษฐกิจต่างประเทศจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน หากสามารถฟื้นตัวได้จะส่งผลบวกเป็นวงกว้างมายังภาคการท่องเที่ยว การลงทุน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย

อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลลบในช่วงต้น แต่เชื่อว่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังคือ ความล่าช้าของรัฐบาลในการจัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากภาครัฐล่าช้ามากว่า 5 เดือนแล้ว แต่ก็มองว่าในท้ายที่สุดภาครัฐบาลจะกลับมาเบิกจ่ายได้ตามปกติราวไตรมาส 2/67

รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยในระยะยาว โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่กำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และไม่สามารถปรับตัวตอบสนองการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความต้องการสินค้าในตลาดการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปลี่ยนไป จึงไม่แปลกใจที่เห็นนักลงทุนต่างชาติเทขายตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี การลงทุนในตลาดหุ้นไทยจึงต้องเน้นการคัดเลือกเป็นรายกลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ให้เหมาะสมกับวัฎจักรเศรษฐกิจในแต่ละช่วง มากกว่าการลงทุนที่ตัวดัชนีตลาด เราประเมินดัชนีเป้าหมายของปีนี้ไว้ที่ 1,525 จุด อิง Fwd PER ที่ 16.24 เท่า บนสมมติฐาน EPS ที่ 93.87 บาทต่อหุ้น

ภาพการลงทุนสำหรับปี 67 ถ้ามองตามข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐาน เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวแต่ก็ยังมีอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา (3.1% ปี 2566) โดยตัวแปรสำคัญขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาคการผลิตทั่วโลก ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นผ่านดัชนี global manufacturing PMI ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (กลับมาอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 16 เดือน) และมีความคาดหวังในเชิงบวกต่อการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Boom)

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ยังคงให้น้ำหนักการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งบริษัทมองว่า เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน โดยประเมินว่าวัฎจักรดอกเบี้ยขาลงของสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงแรก ซึ่งเชื่อว่าเฟดน่าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงท้ายของไตรมาสที่ 2 และอาจปรับลดอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ หากเป็นเช่นนั้นจริง มองว่าผลกระทบต่อการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักและตลาดเกิดใหม่อาจมีไม่มากนัก ขณะที่ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ สงครามการสู้รบ และความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทานที่ยังคงต้องติดตามตลอดปีนี้เช่นกัน

สำหรับตลาดหุ้นต่างประเทศ ยังแนะนำคัดเลือกกลุ่มการลงทุนโดยเน้น กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ