นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้แจงหลักการที่ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต (Short Selling) และมาตรการกำกับดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) ตามที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นำเสนอมา จากนี้คาดว่าจะจัดทำร่างกฎเกณฑ์เพื่อเปิดรับฟังความเห็น (Hearing) ในช่วงไตรมาส 2/67 และจะประกาศบังคับใช้ได้ในไตรมาส 3/67 เพื่อสร้างตลาดทุนให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ
เลขา ก.ล.ต. ระบุว่า การทำ Short Selling ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยอยู่ในระดับ 5% ของมูลค่าซื้อขายรายวันในปี 65 และ 6% ในปี 66 ปัจจุบันในช่วง 2-3 เดือนแรกของปี 67 เพิ่มขึ้นมาที่ 7% โดยส่วนใหญ่มาจาก Foreign ที่เป็น Program Trading 79% และมีนักลงทุนรายย่อยเพียง 3% ซึ่งพฤติกรรมการ Short Selling จะอยู่ในหุ้น SET100 เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ตลท.มีมาตรการดูแลในเรื่อง Short Selling เช่น การกำกับปริมาณซื้อคืนไม่ให้เกิน 10% และกำหนดเกณฑ์หุ้น Short Selling เฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ หรืออยู่ใน SET100 ที่เป็นหุ้นมาร์เก็ตแคปสูงตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 292 หลักทรัพย์ที่สามารถทำได้ อีกทั้งการส่งคำสั่งซื้อขายก็มีกฎกติกาชัดเจน คือ ห้ามทำ Naked Short Selling หรือก่อนที่จะขายจะต้องมีหุ้นในพอร์ต หรือหากเป็น Short Selling ก็ต้องมีการยืมหุ้นมาก่อน ก่อนส่งคำสั่งขาย เป็นต้น
แต่แม้ว่ามาตรการที่มีอยู่จะเป็นระดับสากลแล้ว แต่ก็ต้องมีการทบทวนและเพิ่มกลไกในการดูแล เพื่อให้เหมาะกับสภาพตลาดในปัจจุบันมากขึ้น
สำหรับมาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต (Short Selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) ที่ได้แก้ไขใหม่นี้
*แนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลธุรกรรม Short Selling
เป้าหมาย 1 : เพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขาย
- เพิ่มคุณภาพหุ้นที่สามารถ Short Selling (Eligible Securities) : เพิ่มเงื่อนไขของหุ้นกลุ่ม Non-SET100 ที่สามารถขายชอร์ตได้ โดยเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) และเกณฑ์สภาพคล่องของหุ้น (turnover)
- ปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ (trading rules) เพื่อจำกัดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์
- เพิ่มการใช้ราคาขายชอร์ตที่ต้องสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เมื่อราคาหุ้นลดลงตั้งแต่ 10% ขึ้นไปของราคาปิดวันก่อนหน้า
- กำหนดเพดานขายชอร์ตรายหลักทรัพย์รายวัน (daily Short Selling limit)
- เปิดเผยยอดขายชอร์ตคงค้างรายวัน (Outstanding short position)
เป้าหมาย 2: ป้องปรามการขายชอร์ตไม่เป็นตามเกณฑ์ (Naked Short Selling)
- เพิ่มคุณภาพการทำหน้าที่ตรวจสอบของตัวกลาง :
- บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ทำความรู้จักระบบงานของลูกค้า (Know Your Process: KYP) กรณีลูกค้าที่เป็นตัวกลาง เพื่อให้ลูกค้าทราบ/เข้าใจหลักเกณฑ์ และสื่อสารให้ลูกค้าในชั้นต่อไป และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าตัวกลาง มีระบบควบคุม ติดตามการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
2. มีข้อตกลงกับลูกค้ายินยอมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยินยอมให้ บล. ไล่เบี้ยค่าปรับกรณีที่ บล. ต้องชำระค่าปรับเนื่องจากลูกค้าไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และ บล. ต้องบังคับตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย มีระบบงานรับส่งคำสั่งที่มีประสิทธิภาพ และกลั่นกรองคำสั่งโดยตรวจสอบเอกสารเพื่อยืนยันว่าลูกค้ามีหลักทรัพย์ตามคำสั่งมีระบบ post trade monitoring สุ่มตรวจธุรกรรม short / long sell และรายงานให้ regulator ทราบโดยไม่ชักช้า เมื่อพบเหตุที่น่าสงสัย
3. พัฒนาระบบกลาง ให้ บล. ตรวจสอบหลักทรัพย์ได้
4. เพิ่มอัตราโทษ บล. ที่ไม่ทำตามเกณฑ์ให้เทียบเท่าต่างประเทศ อาทิ กรณีพบ Naked Short Selling จะปรับ 3 เท่าของกำไร (ขั้นต่ำ 1 ลบ.) กรณีการทำธุรกรรม Short Selling ไม่ทำตามเกณฑ์ จะปรับไม่เกิน 0.3 ล้านบาท /ครั้ง
5. แก้กฎหมายเพิ่มความรับผิดตลอดสาย: ลงโทษ/บังคับใช้กฎหมายกับผู้ลงทุนที่ไม่ทำตามเกณฑ์ขายชอร์ต และสร้างกลไกที่ทำให้ทราบถึงผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (End-Beneficial Owner)
6. เพิ่มการทำหน้าที่ผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน (Custodian) ในฐานะ Gatekeeper: โดยให้ custodian แจ้งวัตถุประสงค์การโอน เพื่อการสอบยันการทำรายการยืม
นางพรอนงค์ กล่าวว่า ส่วนการส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง (High Frequency Trading : HFT) ก็ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 64 โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนต่างชาติถึง 98% แบ่งเป็นการส่งคำสั่งปกติ 67%, เป็นโปรแกรมที่ไม่ใช่ HFT ประมาณ 18% และที่เป็น HFT ประมาณ 15% ทำให้มีความกังวลว่าจะมีการใช้โปรแกรมเทรดที่ไม่เหมาะสมในปริมาณมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบกับสภาพตลาด ทำให้มีเป้าหมายที่จะเข้ามาเพิ่มกลไลสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายโดยรวม ทั้งคนและคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มีระบบการซื้อขายที่น่าเชื่อถือ
*แนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) / การส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง (High Frequency Trading : HFT)
เป้าหมาย : เพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายโดยรวม
1. ดำเนินการให้สามารถรู้ตัวตนลูกค้าและตรวจสอบได้ : ขึ้นทะเบียน (Register) ผู้ลงทุนประเภท HFT กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้สามารถติดตามการซื้อขายของผู้ลงทุน HFT ได้
2. ทบทวนพฤติกรรมไม่เหมาะสม
- เพิ่มลักษณะคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสมให้ครอบคลุมพฤติกรรมการซื้อขายในปัจจุบัน
- จัดทำระบบกลางคัดกรองคำสั่งไม่เหมาะสม (Central Order Screening)
- กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของคำสั่งที่เข้ามา ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งนั้นได้ (Order Resting Time) เพื่อป้องกันคำสั่งใส่ถอนถี่เกินไป (spoofing)
3. ควบคุมความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ :
- ใช้กลไกการเพิ่มเพดานการเคลื่อนไหวของราคาระหว่างวัน (Dynamic Price Band) นอกเหนือจากเกณฑ์ราคาสูงสุด-ต่ำสุด (Ceiling and Floor) โดยพักการซื้อขายชั่วคราวถ้าหุ้นมีราคาขึ้นหรือลง 10% ของราคาซื้อขายล่าสุด
- ใช้วิธีการซื้อขายแบบประมูล (Auction) กรณีหุ้นอยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย
- ผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม :
- ทบทวนเกณฑ์การดำเนินการ (sanction) กับลูกค้าที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
- ตลท. เปิดเผยรายชื่อลูกค้าที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้ทุก บล. ทราบ เพื่อให้ดำเนินการตามที่กำหนด
*การดำเนินการที่ผ่านมา
- หารือ ตลท. เพื่อตรวจสอบรายการต้องสงสัย และทบทวนมาตรการกำกับดูแล Short Selling และ Program Trading
- ตรวจสอบพฤติกรรมที่อาจมีลักษณะเป็น Naked Short Selling (ขายมากกว่าซื้อ หรือส่งมอบหุ้นที่ได้จากการยืมหลักทรัพย์โดยไม่บันทึกรายการขายชอร์ต (flag S) ในระบบซื้อขายของ ตลท. ตามเกณฑ์ของ SET) โดยอยู่ระหว่างให้ บล. ชี้แจง และตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม
- ศึกษาวิจัยข้อมูลเพิ่มเติม พบพฤติกรรมการซื้อขายที่อาจมีลักษณะไม่เหมาะสม และอยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม
- ร่วมกับ ตลท. สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) บล. และชมรม custodian เพิ่มความรัดกุมในการทำหน้าที่ของ บล. เกี่ยวกับธุรกรรม Short Selling และการใช้ Program Trading ของลูกค้า
- ศึกษาแนวปฏิบัติของต่างประเทศ รวมทั้งหารือ ก.ล.ต. เกาหลีใต้ เกี่ยวกับมาตรการที่ใช้ และผลกระทบ
- หารือกับ ตลท. อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับ Short Selling และ Program Trading ของ ตลท. จากผลการศึกษาของที่ปรึกษาระดับชั้นนำ
*กฎหมายและหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับ Short Selling
กฎหมายและหลักเกณฑ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ม. 98(5) ห้าม บล. ขายหลักทรัพย์ โดยไม่มีหลักทรัพย์ในครอบครอง, ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้น อยู่ในครอบครอง กำหนดให้ บล. จะให้บริการ short sell ได้ โดยต้องดูแลให้ลูกค้ายืมหลักทรัพย์ก่อนส่งคำสั่ง
- หลักการเสนอปรับปรุง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ
- กำหนดบทลงโทษผู้ลงทุนที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
- กำหนดให้มีกลไลเพื่อให้ทราบถึง End-Beneficial Owner
*แนวทางการกำกับดูแล บล. ให้เข้มขึ้น
บล. ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
- ทำความรู้จักระบบงานของลูกค้า (Know Your Process: KYP) กรณีลูกค้าที่เป็นตัวกลาง เพื่อให้ลูกค้าทราบ/เข้าใจหลักเกณฑ์ และสื่อสารให้ลูกค้าในชั้นต่อไป และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าตัวกลาง มีระบบควบคุม ติดตาม
- มีข้อตกลงกับลูกค้ายินยอมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยินยอมให้ บล. ไล่เบี้ยค่าปรับกรณีที่ บล. ต้องชำระค่าปรับเนื่องจากลูกค้าไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และ บล. ต้องบังคับตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย
- มีระบบงานรับส่งคำสั่งที่มีประสิทธิภาพ และกลั่นกรองคำสั่งโดยตรวจสอบเอกสารเพื่อยืนยันว่าลูกค้ามีหลักทรัพย์ตามคำสั่ง
- มีระบบ post trade monitoring สุ่มตรวจธุรกรรม short / long sell และรายงานให้ regulator ทราบโดยไม่ชักช้า เมื่อพบเหตุที่น่าสงสัย
นางพรอนงค์ กล่างเพิ่มเติมว่า ในเรื่องการแก้กฎหมายหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มการเอาผิดกับผู้ลงทุนโดยตรงที่ทำ Naked Short Selling ยังต้องใช้เวลา แต่ ก.ล.ต. จะเร่งรัดอย่างเต็มที่ เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนทางด้าน ตลท.ก็มีเพิ่มอัตราโทษ บล.ที่ไม่ทำตามเกณฑ์ให้เทียบเท่าต่างประเทศ อาทิ กรณีพบ Naked Short Selling จะปรับ 3 เท่าของกำไร (ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท) หรือกรณีการทำธุรกรรม Short Selling ไม่ทำตามเกณฑ์จะปรับไม่เกิน 0.3 ล้านบาท/ครั้ง
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการแก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต.มีอำนาจสอบสวนและคุ้มครองพยานได้เอง โดยปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดอาจมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ แต่อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ ก.ล.ต. ก็ได้ประสานงานกับตำรวจและอัยการเพื่อให้กระบวนการลงโทษผู้กระทำความผิดดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น