ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร SINGER ที่ระดับ "BB+" ด้วยแนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 14, 2024 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ที่ระดับ "BB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานเงินทุนที่มั่นคงของบริษัท รวมถึงแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีแรงกดดันจากความยืดเยื้อของคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลง ความเสี่ยงทางด้านการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของความสามารถในการทำกำไรที่ช้ากว่าที่คาดไว้

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • ฐานะเงินทุนยังคงแข็งแกร่ง ฐานทุนของบริษัทยังคงแข็งแกร่งและยังคงเป็นปัจจัยเสริมสร้างความแข็งแกร่งที่สำคัญสำหรับอันดับเครดิต โดยการประเมินสถานะอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (Risk-adjusted Capital Ratio : RAC Ratio) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ แข็งแกร่งมาก? โดยอยู่ที่ระดับ 66% ณ สิ้นปี 2566 ฐานทุนที่แข็งแกร่งนี้เพียงพอต่อการสนับสนุนแผนการขยายสินเชื่อของบริษัทและรองรับผลขาดทุนที่เกิดขึ้นได้ในระยะหนึ่ง
ในส่วนของการก่อหนี้ของบริษัทนั้น บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 0.4 เท่า ณ สิ้นปี 2566 โดยอัตราส่วนดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 3 เท่า จากความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีสินเชื่อที่เติบโตอย่างชะลอ
ตัวลงเมื่อเทียบกับในอดีต อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจึงจะยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ระดับ 64%-67% ในช่วงปี 2567-2569
  • คาดว่าจะรักษาสถานะทางการตลาดและมีแผนขยายธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์อื่น จากการทำการตลาดเชิงรุกของบริษัทและการควบคุมการดำเนินงานที่ไม่เพียงพอส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายการด้อยค่าจำนวนมากในครึ่งแรกของปี 2566 บริษัทจึงวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่ระมัดระวังมากขึ้น รวมทั้งมีกระบวนการดำเนินงานที่รัดกุมขึ้น โดยยอดขายของบริษัทลดลงอย่างมากถึง 72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 0.8 พันล้านบาทในปี 2566 โดยประกอบไปด้วยรายได้จากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเพื่อการพาณิชย์คิดเป็นสัดส่วน 45% รายได้จากการขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 43% รายได้จากการขายสินค้าคงเหลือที่ยึดคืนมาได้ 10% และรายได้การขายสินค้าอื่น ๆ อีก 2%

ทริสเรทติ้งประมาณการว่ายอดขายของบริษัทซึ่งรวมการขายสินค้าคงเหลือที่ยึดคืนมาได้จะอยู่ที่ระดับ 1.3 พันล้านบาทในปี 2567 และ 1 พันล้านบาทต่อปีในปี 2568-2569 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การขยายเครือข่ายการจำหน่าย รวมทั้งการเพิ่มยอดขายเงินสด ผ่านหน้าร้านสาขาและแพลตฟอร์มออนไลน์นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายธุรกิจไปสู่สินค้าตราสัญลักษณ์อื่น ๆ ได้แก่ รถจักรยานไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

  • สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของสินเชื่อรวม บริษัทได้ขยายสินเชื่อผ่านบริษัทย่อยคือ บมจ.เอสจี แคปปิตอล (SGC) ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อยังคงใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ 1.49 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 โดยเป็นผลมาจากนโยบายการเติบโตอย่างระมัดระวังจากความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน

สำหรับแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อนั้น แรงหนุนที่สำคัญยังคงมาจากสินเชื่อในกลุ่มรถบรรทุกที่มีทะเบียนรถเป็นประกันซึ่งขยายไปยังตลาดลูกค้าขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยบริษัทยังคงระมัดระวังในสินเชื่อกลุ่มนี้เช่นกัน แม้ว่าสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันอาจชะลอตัวลงจากในอดีต แต่ก็ยังสามารถชดเชยการหดตัวลงอย่างมากของสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสินเชื่อของบริษัทจะอยู่ที่ระดับใกล้เคียงเดิมในช่วงระหว่างปี2567-2569 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นปี 2566 สัดส่วนสินเชื่อของบริษัทประกอบไปด้วยสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 77% สินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ 18% และสินเชื่อประเภทอื่น ๆ อีก 5%

ในขณะเดียวกันบริษัทมีแผนขยายสินเชื่อสวัสดิการกู้ยืมเพื่อรวมหนี้(Debt Consolidation) ซึ่งมีความเสี่ยงด้านเครดิตค่อนข้างต่ำกว่า เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์โดยรวม นอกจากนี้ SGC ซึ่งเป็นบริษัทลูกยังมีแผนจะแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น สินเชื่อชื่อทะเบียนรถเพื่อเกษตรกรเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนสินเชื่อโดยรวมอีกด้วย

  • การจัดการคุณภาพสินทรัพย์ยังคงเป็นความท้าทาย ในมุมมองของทริสเรทติ้ง การบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพของบริษัทยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญ ทั้งนี้ เป็นผลจากมุมมองของทริสเรทติ้งในด้านความเสี่ยงในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นของบริษัทจากการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็ว และความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่ม ขึ้นเนื่องจากการอนุมัติสินเชื่ออย่างไม่ระมัดระวังในช่วงปี 2564-2565 ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอีก โดยบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 3.8 พันล้านบาทในปี 2566 การขาดทุนดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและค่าใช้จ่ายการปรับมูลค่าและค่าเผื่อผลขาดทุนจากมูลค่าที่ลดลงจำนวนมากสำหรับสินค้าคงคลังในส่วนของสินค้าที่ยึดคืน

ในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์นั้น การสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของบริษัทในปี 2565 ส่งผลทำให้ลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (หรือลูกหนี้ชั้นที่ 3 -- NPL) เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 20.9% ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 3%-4% ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 53% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 (เมื่อปรับตัวเลขเป็นอัตราส่วนเต็มปี) และปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5% (เมื่อปรับตัวเลขเป็นอัตราส่วนเต็มปี) ในครึ่งหลังของปี 2566

จากนโยบายที่เน้นการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นโดยการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการจัดเก็บหนี้และเร่งตัดหนี้สูญของลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตให้เร็วขึ้นนั้น ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น บริษัทจะต้องเน้นที่ตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันซึ่งเป็นสินเชื่อที่ยังคงมีอัตราการค้างชำระหนี้ต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่นเพื่อที่จะทำให้คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมแข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่สูงอย่างต่อเนื่องประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป้าหมายยังคงเป็นความท้าทายในมุมมองของทริสเรทติ้ง

จากประมาณการของทริสเรทติ้งที่คาดว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5%-7% และอัตราการตัดหนี้สูญต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 9%-12% ในช่วงระหว่างปี 2567-2569 ส่งผลให้อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นเป็น 6%-7% ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยคาดว่าอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL Coverage) จะอยู่ที่ระดับ 60%-70% ทั้งนี้ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 อัตราส่วน NPL Coverage ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 76%

  • ความสามารถในการสร้างผลกำไรฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทริสเรทติ้งประมาณการว่าความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย (EBT/ARWA) จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดย EBT/ARWA นั้นลดลงมาอยู่ที่ -15.6% ในปี 2566 จากที่ระดับ 4.6% ในปี 2565 ส่งผลให้การประเมินความสามารถในการสร้างผลกำไรลดลงจากสถานะ 'เพียงพอ' เป็น 'อ่อนแอ' ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่า EBT/ARWA จะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับ 1% ในปี 2567-2569 การฟื้นตัวของผลกำไรนั้นมาจากการที่บริษัทจะมีอัตรากำไรขั้นต้นปรับเพิ่มขึ้น การรักษาอัตราดอกเบี้ยรับและการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทริสเรทติ้คาดการณ์ว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวดีขึ้นจาก -1% ในปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ 22% ในปี 2567 และ 34% ในปี 2568-2569 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าในอดีต และคาดว่าอัตราส่วน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับ 35%

อัตราดอกเบี้ยรับโดยรวมในพอร์ตสินเชื่อของบริษัทปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 14% ในปี 2566 จากอดีตที่อยู่ระดับสูงกว่า 20% โดยเป็นผลมาจากการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันซึ่งมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำว่าสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ทริสเรทติ้งคาดว่า ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอัตราดอกเบี้ยรับจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 13%

  • สถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องมีเพียงพออีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตในการประเมินอันดับเครดิตของทริสเรทติ้งได้แก่ การที่บริษัทมีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ ?เพียงพอ? โดย ณ สิ้นปี2566 บริษัทมีเงินสดรวมทั้งเงินลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้นและวงเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ที่เพียงพอคิดเป็นมูลค่าราว 4 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับภาระหนี้จากหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืนในปี 2567 ทั้งนี้ บริษัทมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 1 พันล้านบาทในเดือนมีนาคมและอีก 2 พันล้านบาทในเดือนกันยายน

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพที่ค่อนข้างสูงอยู่ที่ระดับ 160% ในปี 2566 เนื่องมาจากสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งมาก นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับเงินจากการชำระคืนสินเชื่อของลูกหนี้อีกประมาณ 500 ล้านบาทต่อเดือนอีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2567-2569 มีดังนี้

  • ยอดขายเพิ่มขึ้นที่ระดับ 1.3 พันล้านบาทในปี 2567 และคงที่อยู่ที่ระดับ 1 พันล้านบาทต่อปีในปี 2568-2569
  • สินเชื่อคงค้างจะคงตัว
  • อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 22%-34%
  • อัตราดอกเบี้ยรับอยู่ที่ระดับประมาณ 13% ต่อปี
  • ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอยู่ที่ระดับ 6%-7% ต่อปี
  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมอยู่ที่ระดับประมาณ 35%

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งที่รองรับผลขาดทุนรวมทั้งแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตจะถูกปรับเพิ่มขึ้นได้หากคุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจในระยะกลางของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงได้หากคุณภาพสินทรัพย์เสื่อมถอยลงและ/หรือผลประกอบการของบริษัทอ่อนแอลงเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ