นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) ยืนยันภาพรวมบริษัทยังแข็งแกร่ง โดยทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กร JMART และ บมจ. เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ที่ระดับเดิมที่ "BBB+" และ คงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ชุดปัจจุบันของ JMART และ JMT ที่ระดับ "BBB"
แม้ทริสฯ ปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่" เนื่องจากมองว่าสถานะทางการเงินของ JMART ที่อ่อนแอลง อันเนื่องมาจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ และ การลงทุนเชิงรุก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับกลับมาเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ในกรณีที่บริษัทมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีขึ้นในขณะเดียวกันยังคงรักษาการก่อหนี้ให้อยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบันเอาไว้ได้
นายอดิศักดิ์ กล่าวถึงความมั่นใจว่า JMART จะกลับมาทำ All Time High ในปี 67 และแข็งแกร่งขึ้นจากบริษัทย่อยเป็น Key Drivers ที่สำคัญ คือ JMT (JMART ถือหุ้น 53.9%) มีผลประกอบการที่เติบโตมาโดยตลอด รวมทั้งเก็บเกี่ยวผลกำไรในบริษัทที่เข้าไปลงทุน ได้แก่ บริษัท สุกี้ตี๋น้อย เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้ง BRR PRTR BKD จึงประมาณการผลตอบแทนที่เราไปลงทุนคาดว่าจะได้รับเงินปันผลกลับมาที่ JMART อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยสร้างกระแสเงินสดกลับมาให้ จากปี 66 JMART มีเงินสดในมือราว 800 ล้านบาท รวมกับเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับอีกเกือบ 1 พันล้านบาท
"การบริหารเงินลงทุนที่ผ่านมาได้สร้างโอกาสทางธุรกิจและผลตอบแทนได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งยังไม่นับรวมยอดขายหรือโอกาสทางธุรกิจที่มาจากการ Synergy ร่วมกันภายในกลุ่ม และนี่คือ Value ที่ซ่อนอยู่ของเจมาร์ท ในด้านความแข็งแกร่งของโครงสร้างทุนมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (IBD/E) เพียง 0.76 เท่า"
อย่างไรก็ดี ในปี 66 แม้ว่า JMART ได้รับผลกระทบจากการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัท SINGER และ SGC ซึ่งสามารถพิสูจน์ผลงานในงบไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมาพลิกกลับมาทำกำไรได้ตามที่วางไว้ หลังจากกลุ่ม SINGER และ SGC ไม่มีตั้งสำรองอย่างมีนัยสำคัญ และกำลังสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อเทิร์นอะราวด์ มองเป็นวิกฤติที่กลุ่มบริษัทได้ปิดความเสี่ยงในส่วนนั้นไว้แล้ว และจะแข็งแกร่งขึ้นในช่วงต่อจากนี้ ยืนยันปี 66 ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว
ขณะที่ภาพรวมธุรกิจบริหารหนี้ของ JMT เป็นธุรกิจที่แข็งแกร่ง จากการเป็นผู้นำ AMC บริหารหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และจะยังเติบโตต่อเนื่องจากพอร์ตหนี้ที่บริษัทซื้อมาบริหาร และการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ แม้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และความสามารถในการจ่ายชำระของลูกหนี้
อย่างไรก็ดี JMT ดำเนินธุรกิจมากว่า 20 ปี และมั่นใจว่าในทุกวิกฤติจะเป็นโอกาสเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก เป็นโอกาสให้ JMT ซื้อหนี้เข้ามาบริหารต่อเนื่อง พร้อมเผยแนวโน้มไตรมาส 1/67 ยอดจัดเก็บยังทำได้ตามแผนคาดดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จึงมั่นใจ JMT ในปี 2567 จะทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 66 บริษัทมีพอร์ตบริหารหนี้รวมอยู่ที่ประมาณ 510,000 ล้านบาท (รวม JK AMC) มีฐานะการเงินแข็งแกร่งได้วางแผนกระแสเงินสดในการชำระคืนหุ้นครบกำหนดไถ่ถอนไว้เรียบร้อยแล้ว