นายจวง จื้อ เหยา รองประธานกรรมการ บมจ.ฮั้วฟงรับเบอร์ (ไทยแลนด์) (HFT) กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 67 จะเติบโตมากกว่าปี 66 ที่ผลการดำเนินงานน่าจะเป็นปีที่แย่ที่สุด โดยการเติบโตในปี 67 จากการสต๊อคสินค้าลูกค้าในยุโรปเริ่มปรับลดลงและใกล้เคียงกับระดับปกติ ซึ่งบริษัทได้หารือลูกค้าเพื่อเตรียมรองรับคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามา นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหส่างการเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการ (M&A) โครงการใหญ่ ซึ่งหากมีความชัดเจนจะมีการเปิดแผยในอนาคต
สำหรับราคายางในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบกับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่บริษัทมีแผนในการบริหารจัดการต้นทุนในการปรับราคาสินค้า โดยการซื้อวัตถุดิบมาเก็บรักษาไว้ปริมาณใช้ได้ถึงกลางปี 67 แล้ว ซึ่งราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจจะกระทบในไตรมาส 3/67 เมื่อถึงช่วงนั้น บริษัทจะพูดคุยกับลูกค้าเพื่อปรับขึ้นราคา
นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินโครงการ Forest Stewardship Council (FSC) หรือโครงการการจัดการด้านป่าไม้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการที่จะสอดรับกับกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation Regulation) ของสหภาพยุโรป (อียู) โดยสินค้าทั้งหมดของบริษัทที่จะส่งออกไปยังยุโรปจะถูกติดสัญลักษณ์ FSC เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าแหล่งที่มาของยางพาราได้รับการรับรองว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและบุกรุกป่าสงวน
บริษัทได้เริ่มส่งออกสินค้าตามกฎหมาย EUDR ตั้งแต่ไตรมาส 1/67 โดยคาดว่ายอดขายสินค้าดังกล่าวจะมีสัดส่วน 30% จากยอดขายสินค้าทั้งหมดของบริษัทในปีนี้ ซึ่งการมีมาตรการ EUDR ไม่ได้ทำให้ดีมานด์ของลูกค้าลดลง แม้ราคาสินค้าจะปรับขึ้นเล็กน้อย แต่การที่ลูกค้าเตรียมสต๊อคสินค้า EUDR ไว้ก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้ในปีหน้าจะทำให้ยอดขายในปีหน้าของลูกค้าสูงกว่าแบรนด์อื่นที่ไม่ได้เตรียมสต๊อคสินค้าไว้
นายจวง จื้อ เหยา กล่าวถึงราคาหุ้น KFT ที่ปรับตัวลงมาว่า สาเหตุน่าจะมาจากผลการดำเนินงานในปี 66 ที่ไม่ค่อยดี แต่มองว่าบริษัทยังแข็งแรงกว่าอุตสาหกรรมจากผลการดำเนินงานที่ยังเป็นกำไร อย่างไรก็ตามราคาหุ้นที่ลดลงเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าซื้อ
สำหรับผลการดำเนินงานปี 66 บริษัทมียอดขายอยู่ที่ 2,648.77 ล้านบาท ลดลง 22.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขายยางกลุ่มรถจักรยานลดลงในกลุ่มยุโรป เนื่องจากลูกค้ายังคงระบายสินค้าที่มีอยู่ในสต็อค นอกจากนี้ความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจำนวน 49.14 ล้านบาท ซึ่งบริษัทพยายามปรับราคาสินค้าในประเทศทุกปี เพื่อชดเชยผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น