ฟิทช์ คงอันดับเครดิตในประเทศ LHFG และ LH Bank ที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 28, 2024 19:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) และบมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) ที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ยังได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ F1+(tha)

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

อันดับเครดิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น: อันดับเครดิตพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นจากไต้หวันซึ่งคือ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC; อันดับเครดิตสากล 'A'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน 'a') CTBC ถือหุ้นโดยตรงใน LHFG ในสัดส่วน 46.6% และมีอำนาจควบคุมการบริหารกลุ่มบริษัทลูกในประเทศไทย โดย CTBC Bank เป็นธนาคารเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่งและมีรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายในแง่ของการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ อันดับเครดิตภายในประเทศของ LHFG และ LH Bank ยังพิจารณาถึงโครงสร้างอันดับเครดิตที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศโดยฟิทช์

มีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนธนาคารแม่: ฟิทช์คาดหวังว่า CTBC จะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) แก่ LHFG และ LH Bank ในกรณีที่มีความจำเป็น เนื่องจาก LHFG มีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนเครือข่ายในต่างประเทศของ CTBC และการให้บริการทางการเงินข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการการค้าต่างประเทศ (trade finance) โดยประเทศไทยมีศักยภาพการเติบโตของความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) กลุ่มลูกค้ารายย่อย (โดยหลักมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย) และจากกลุ่มบริษัทจากไต้หวัน

ความเชื่อมโยงกับธนาคารแม่ที่ไม่สูงนัก: ฟิทช์มองว่าสัดส่วนการถือหุ้นของ CTBC ใน LHFG อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และการไม่มีการใช้ชื่อและสัญลักษณ์ทางการค้าร่วมกัน ถือเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้ระดับความเชื่อมโยงในด้านชื่อเสียงและในด้านการดำเนินงาน รวมทั้งการควบคุมและบริหารงานอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารลูกของธนาคารต่างประเทศอื่นในประเทศไทย

ธนาคารแม่มีความสามารถที่แข็งแกร่งในการสนับสนุน: ฟิทช์เชื่อว่า CTBC มีความสามารถที่แข็งแกร่งในการให้การสนับสนุนแก่ LHFG และ LH Bank สะท้อนได้จากอันดับเครดิตของธนาคารแม่ซึ่งสูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทย (ที่ BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) นอกจากนี้เราคาดว่าการสนับสนุนธนาคารลูกจึงไม่น่าจะเป็นสาระสำคัญสำหรับธนาคารแม่ เนื่องจากธนาคารลูกในประเทศไทยยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับ CTBC โดยมีขนาดของสินทรัพย์คิดเป็น 4% ของสินทรัพย์ของ CTBC ฟิทช์คาดว่าโครงสร้างการระดมเงินทุนของ LHFG และ LH Bank จะได้รับประโยชน์จากการเป็นบริษัทลูกของกลุ่ม CTBC อีกทั้ง CTBC ยังมีการให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อใช้การดำเนินงานตามปกติ ซึ่งรวมถึงการบริหารสภาพคล่องและการให้วงเงินเงินกู้ระหว่างธนาคาร

ความเชื่อมโยงในการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป: ฟิทช์คาดว่าความเชื่อมโยงในการดำเนินงานระหว่าง CTBC กับธนาคารลูกจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ โดยมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญผ่านทางคณะกรรมการแลผู้บริหารของ LHFG และ LH Bank นอกจากนี้ CTBC ยังมีการควบคุมกลุ่ม LHFG ให้เป็นไปตามมาตรฐานการบริหารจัดการของ CTBC และสอดคล้องกับกรอบกฎหมายและข้อบังคับของไต้หวัน

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน): การปรับตัวด้อยลงของสมมติฐานด้านการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของฟิทช์อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิต ตัวอย่างเช่น หากฟิทช์มองว่า CTBC มีความสามารถที่ลดลงในการสนับสนุนธนาคารลูกในประเทศไทย ซึ่งอาจเกิดได้จากการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ CTBC การลดสัดส่วนการถือหุ้นของ CTBC อย่างมีนัยสำคัญ ความล่าช้าในการให้การสนับสนุน หรือการลดการประสานงานเชิงกลยุทธ์ อาจบ่งชี้ถึง แนวโน้มในการสนับสนุนธนาคารลูกในประเทศไทยที่ลดลง

นอกจากนี้ ความล้มเหลวของแผนการผสานการดำเนินงานกับ CTBC หรือผลการดำเนินงานที่ปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจนำไปสู่การทบทวนความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่าง CTBC และธนาคารลูก ทั้งนี้หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น อาจส่งผลให้มีการประเมินวิธีพิจารณาอันดับเครดิตของ LHFG และ LH Bank ใหม่ จากการอ้างอิงปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นเป็นการประเมินจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวบริษัทลูก และอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตลงหลายอันดับ แต่อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนในระยะสั้น

นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตจะต้องพิจารณาถึงโครงสร้างอันดับเครดิตของทั้ง LHFG และ LH Bank ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นเทียบกับบริษัทหรือธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วยเช่นกัน

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ LHFG และ LH Bank จะถูกปรับลดอันดับลงเป็น F1(tha) หากอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ LHFG ถูกลดอันดับลงเป็น A-(tha) หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อสมมติฐานการสนับสนุนของ CTBC ต่อบริษัทลูกในประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน): ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ LHFG และ LH Bank หากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ CTBC ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ (โดยที่โอกาสในการให้การสนับสนุนไม่ลดลง) ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงความสามารถในการให้การสนับสนุนบริษัทลูกในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตหากรับรู้ได้ถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของโอกาสที่ CTBC จะให้การสนับสนุนแก่ LHFG และ LH Bank ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจสะท้อนได้จากการที่ LHFG และ LH Bank มีสัดส่วนในการช่วยสร้าง (Contribution) เครือข่ายทางธุรกิจให้กับกลุ่มเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ หรือหาก CTBC เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่และมีการเพิ่มการผสานการดำเนินงานและการบริหารงานและการเชื่อมโยงด้านชื่อเสียง อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญไม่น่าที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากสัดส่วนในการช่วยสร้างกำไรให้กับ CTBC ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างน้อยและบทบาทที่จำกัดของ LH Bank และ LHFG ในการสนับสนุนธุรกิจต่างประเทศของ CTBC

อันดับเครดิตตราสารหนี้และอันดับเครดิตอื่น

ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ LH Bank ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ 2 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันเนื่องจากสถานะด้อยสิทธิของตราสารดังกล่าว และโอกาสในการตัดเป็นหนี้สูญทั้งจำนวนหรือบางส่วนเมื่อธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการได้ (non-viability) หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) จึงไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตเพิ่มเติมสำหรับความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ในการจัดอันดับของฟิทช์สำหรับตราสารลักษณะเดียวกันที่ออกในประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน): การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารจะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารถูกปรับลดอันดับเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารจะทำให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ LH Bank ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ