นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดดัชนีอ่อนตัวลง ถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) ปรับตัวสูงขึ้น และดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า หลังการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐดีกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้นักลงทุนปรับลดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจคงดอกเบี้ยระดับสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
โดยนักลงทุนปรับลดคาดการณ์ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิ.ย. จากเดิมมีโอกาส 60% ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 50%
ขณะที่ปัจจัยในประเทศติดตามการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการประชุมสภาฯ อภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติในวันพรุ่งนี้
กลยุทธ์ในการลงทุนช่วงนี้เป็นตลาดของการ Trading โดยมีแนะนำในกลุ่มได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า อาทิ กลุ่มส่งออกอาหาร
พร้อมทั้งให้กรอบดัชนีแนวรับ 1,370 จุด และแนวต้าน 1,385 จุด หากผ่านได้ให้แนวต้านถัดไปที่ 1,390 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (1 เม.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,566.85 จุด ลดลง 240.52 จุด หรือ -0.60%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,243.77 จุด ลดลง 10.58 จุด หรือ -0.20% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,396.83 จุด เพิ่มขึ้น 17.37 จุด หรือ +0.11%
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดภาคเช้าที่ระดับ 16,811.74 จุด เพิ่มขึ้น 270.32 จุด หรือ +1.63% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดภาคเช้าที่ระดับ 3,076.88 จุด ลดลง 0.5 จุด หรือ -0.02% ส่วนดัชนีนิกเกอิเปิดตลาดที่ระดับ 39,892.59 จุด เพิ่มขึ้น 89.5 จุด หรือ +0.22%
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (1 เม.ย.) 1,379.48 จุด เพิ่มขึ้น 1.54 จุด (+0.11%) มูลค่าซื้อขาย 27,472.77 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 899.74 ล้านบาท
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 54 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 83.71 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (1 เม.ย.) อยู่ที่ 4.85 เหรียญ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 36.63 อ่อนค่ารอบกว่า 5 เดือน บอนด์ยีลด์หนุนดอลาร์แข็งค่า จับตา Flow
- ก.คลัง-แบงก์รัฐ แซะเศรษฐกิจโตน้อย ดอกเบี้ยนโยบายสูงเกินสวนทางเงินเฟ้อต่ำ ที่ผ่านมารัฐบาลให้แบงก์รัฐช่วยแก้หนี้ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยประชาชนรวมแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท พร้อมช่วยต่อด้วยการเสนอ ครม.อนุมัติแบงก์รัฐลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีกช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ หวังกดดันแบงก์ชาติ-แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงตามเพื่อช่วย เหลือประชาชนอย่างทั่วถึง ด้าน ธอส.-EXIM Bank-SME D Bank จัดโปรแกรมก่อนล่วงหน้า
- "เศรษฐา" ประชุมบอร์ดการเงินการคลังของรัฐ รื้อกรอบการคลังระยะปานกลาง ปี 67-71 ขยายขาดดุลงบปี 68 เพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท ชงเข้า ครม.วันนี้ เรียกประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจสัปดาห์นี้ ย้ำขาดดุลสูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจีดีพี ส่อแววต่ำต่อเนื่อง ส่วนแหล่งเงินที่เหลือคาดระดมทั้ง พ.ร.บ.โอนงบ จัดงบกลางและกู้เงิน เพื่อใช้ในโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต"
- บริษัท หลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 โว่า SET Index ในไตรมาสนี้จะมีความผันผวนที่เพิ่มขึ้น ตามปัจจัยทางด้านดอกเบี้ยนโยบายที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งในแง่ของการลดดอกเบี้ย ครั้งแรก และความคาดหวังของตลาด ที่สามารถปันแปรได้ตลอดทั้งไตรมาส ซึ่งในส่วนมุมมองของทางทรีนีตี้ คาดว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลงแน่นอนในปีนี้ได้ราว 0.5% มาอยู่ที่ระดับ 2.0%
- "สุริยะ" ชง ครม. ยกเว้นค่าผ่านทางด่วน-มอเตอร์เวย์ ช่วงหยุดยาว "สงกรานต์" ปีนี้ พิเศษ วิ่งฟรีทางด่วน "ฉลองรัฐ" เพิ่มอีกสาย จากเดิม 5 สายเป็น 6 สาย ส่วนมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ช่วงหินกอง-แก่งคอย เสร็จไม่ทันเลื่อนเปิดใช้ไปก่อน
หุ้นเด่นวันนี้
- HANA (กสิกรไทย) แนะนำซื้อ ราคาพื้นฐาน 40 บาท ปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของราคาหุ้นได้แก่ 1.คาดกำไรจะฟื้นตัวดีขึ้น Q0Q เป็น 300 ล้านบาท ในไตรมาส 1/67 เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการตั้งด้อยค่าจากการดำเนินงานของ PMS ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่คาดอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ดีขึ้นหลังเงินบาทอ่อนค่า 2 บาท หรือ 5.5% QTD เป็น 36.25 บาทต่อดอลลาร์ 2. KBANK ประเมินค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์ โดยการอ่อนค่าของเงินบาททุกๆ 1 บาทจะเปิด upsides ต่อประมาณการกำไรทั้งปี 67 ของ HANA ที่ 6% 3. รายได้อาจฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2/67 เป็นต้นไปโดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน อุปสงค์การเติมสินค้าคงคลังในครึ่งหลังของปี 67 และการฟื้นตัวของตลาดจีน
- NSL (ฟินันเซียไซรัส) แนะนำ "ซื้อ" ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 30 บาท เราคาดกำไร ไตรมาส 1/67 ยังเดินหน้าทำ New High ต่อเนื่องที่ 104 ล้านบาท +3% q-q, +38% y-y หนุนจากยอดขายที่คาดว่ายังโตแกร่ง +22% y-y จากทั้งสินค้าเดิมและความสำเร็จของสินค้าใหม่ที่ออกตั้งแต่ไตรมาส 4/66 ขณะที่ฝั่งต้นทุนยังทรงตัว ทำให้ Margin คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง
เราปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 67-68 ขึ้น 7-9% เป็น 410 ล้านบาท +23% y-y และ 470 ล้านบาท +15% y-y ตามลำดับ จากรายได้ที่แข็งแรงกว่าคาดและขาดทุนบริษัทร่วมที่จะทยอยลดลง ล่าสุด NSL ขยาย MOU กับ 7-11 อีก 5 ปีไปสิ้นสุดปี 74 และมีแผนขยายกำลังการผลิตในปี 68-69 รองรับการเติบโต
แนวรับ 22-21.50 บาท แนวต้าน 23.20-24 บาท
- BA (คิงส์ฟอร์ด) ซื้อ ราคาเป้าหมาย IAA Consensus 20.00 บาท แนวโน้มไตรมาส 1/67 คาดเห็นการพลิกกลับมาเป็นกำไรจากที่เป็น high season ท่องเที่ยว ส่งผลปริมาณผู้โดยสารเติบโต ส่วนราคาค่าตั๋วโดยสารยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากความต้องการในการเดินทางที่ฟื้นเร็วกว่า supply ขณะที่ค่าใช้จ่าย SG&A จะลดลงสู่ระดับไตรมาสปกติ
ทั้งนี้จากสถิติการบินยังมี room ให้ improve ไปเทียบเท่าช่วง pre-covid ได้ แม้บริษัทจะเพิ่มกำลังการให้บริการได้ช้ากว่าสายการบิน low cost โดยในปี 67 บริษัทตั้งเป้าผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน LF 85% เที่ยวบิน 48,000 เที่ยวบิน และรายได้ 17,800 ล้านบาท ช่วงสั้นได้ sentiment บวกความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน รวมถึง entertainment complex