บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) โผล่พ้นน้ำขึ้นมาหายใจได้คล่องขึ้นหลังปลดภาระสำคัญ KEX ที่กดดันผลประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง เหลือแค่ SINGER ที่รอวัดใจจะเคลียร์ได้วันไหน แต่ผู้บริหารมั่นใจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จากนี้รอลุ้นอัพไซด์ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดี กทม.ค้างค่าจ้างเดินรถงวดแรก 1.2 หมื่นล้านบาทหากยืนตามศาลชั้นต้นและตุลาการผู้แถลงคดี และยังมีงวด 2 งวด 3 อีก มั่นใจปีนี้เป็นบวกแน่นอน
BTS และ บมจ.วีจีไอ (VGI) บริษัทลูกรายสำคัญอาศัยจังหวะที่กลุ่ม SF บริษัทแม่ของ บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (KEX) ปรับโครงสร้างการถือหุ้นด้วยการตั้งโต๊ะทำเทนเดอร์ฯ โดย VGI ได้ขายหุ้น KEX ออกหมดทั้งหมด 269,230,900 หุ้นคิดเป็น 15.45% ส่วน BTS ตัดขายออกไป 2.72% จากที่ถืออยู่ 5.72% ในราคาหุ้นละ 5.50 บาท ช่วยให้ VGI ปลดเปลื้องภาระขาดทุนที่ต้องแบกรับอยู่ปีละประมาณ 570 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ภาระจากการลงทุนหุ้น บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ยังเป็นตัวถ่วง ซึ่ง RABBIT ประกาศความพร้อมขายหุ้น SINGER โดยทำสัญญาขายคืนหุ้นทั้ง 195,165,296 หุ้น หรือ 23.9437% ให้นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ราคาหุ้นละ 20 บาท เป็นเงิน 3,903.30 ล้านบาท ภายใน 3 ปี หลังจากเข้าซื้อมาด้วยราคาหุ้นละ 36.3005 บาท 197,108,696 หุ้น รวม 7,155.14 ล้านบาท เมื่อ 27 ส.ค.64
*มั่นใจผลงานปีนี้บวกแน่
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ BTS และ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลขนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทหลักในธุรกิจ MOVE ของกลุ่ม BTS กล่าวกับ "อินโฟเควสท์" แสดงความมั่นใจว่าจุดต่ำสุดของ BTS ผ่านพ้นไปแล้ว ในไตรมาส 4 ของงวดปี 66/67 (ม.ค.-มี.ค.67) จะไม่มีผลขาดทุนจากการลงทุน KEX อีกต่อไป
"ธุรกิจ MIX ที่ตั้งด้อยค่าของ KEX ไป 4 พันกว่าล้านบาท เชื่อว่าตรงนี้จะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว หลังจาก KEX ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้จะไม่ต่ำลงไปกว่านี้แล้ว" นายสุรพงษ์ กล่าว
ขณะที่ธุรกิจ MIX หลังจากนี้เป็นต้นไปจะดีขึ้น โดยเฉพาะ VGI ที่มีธุรกิจโฆษณานอกสถานที่จะได้รับผลดีจากพื้นที่โฆษณาในสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีจำนวนผู้โดยสารค่อยๆ ฟื้นตัว รวมถึงสายสีชมพูและสายสีเหลือง ซึ่งทั้ง 2 สายเพิ่งเปิดบริการคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
กรรมการ BTS คาดว่าในงวดปี 66/67 (สิ้นสุด มี.ค.67) ผลประกอบการภาพรวมของ BTS จะไม่ขาดทุน เพราะการบันทึกด้อยค่าการขาดทุนเงินลงทุนไม่มีแล้ว และธุรกิจรถไฟฟ้า (MOVE) ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในไตรมาสสุดท้าย
"เราก็ต้องยอมรับว่ามันคงอาจจะไม่ดีเท่าก่อนหน้านี้ แต่ผมก็เชื่อว่าเมื่อดูทั้งกรุ๊ปแล้ว ผมคิดว่าไม่น่าจะขาดทุน"
ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของงวดปี 66/67 พลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 5,277.09 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 2,058.63 ล้านบาท
*สายสีเขียวโตพุ่ง 20% แม้สายชมพู-เหลืองยังพลาดเป้าแต่แนวโน้มโต
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ธุรกิจ MOVE ในปีนี้ (สิ้นสุด มี.ค.67) จำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมส่วนต่อขยายเติบจะเพิ่มขึ้น 20% หรือมาอยู่ที่ 195 ล้านเที่ยวคน นับว่ากลับมาราว 80% ก่อนเกิดโควิด (ปี 62) โดยวันธรรมดา (weekdays) มีผู้โดยสารเฉลี่ย 8-9 แสนเที่ยวคน/วัน และปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงหรือ 100% ของช่วงก่อนเกิดโควิด
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง แม้วันนี้ยังมีจำนวนผู้โดยสารน้อยกว่าคาดไว้ที่มากกว่า 1 แสนเที่ยวคน/วันในแต่ละสาย แต่ปัจจุบันสายสีชมพูมีผู้โดยสาร 60,000 เที่ยวคน/วัน ส่วนสายสีเหลือง มีผู้โดยสารวันละ 50,000 เที่ยวคน/วัน ลดลง 1 ใน 3 ของประมาณการณ์
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เท่าที่ประเมินเชื่อว่าสายสีชมพูจะมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะมีส่วนต่อขยายเข้าไปในเมืองทองธานีที่มีการจัดงานอีเว้นท์และคอนเสิร์ตขนาดใหญ่อย่าวสม่ำเสมอ ทำให้คนจะเข้ามาใช้เดินทางมากขึ้น ส่วนสายสีเหลือง แม้ตามเส้นทางจะมีประชากรหนาแน่น อาทิ ลาดพร้าว แต่เป็นเส้นทางที่ก้ำกึ่งระหว่างนอกเมืองและในเมือง ดังนั้น ถ้าจะเข้าสู่ใจกลางเมืองก็จะต้องต่อรถไฟฟ้าอีกสายทำใหึ้ค่าใช้จ่ายการเดินทางสูง อีกอย่างสภาพจราจรย่านลาดพร้าวในปัจจุบันไม่ค่อยติดขัดเหมือนในอดีตแล้ว อย่างไรก็ดี บริษัทได้ทำโปรโมชั่นสายสีเหลืองอย่างต่อเนื่อง ต้องรอประเมินว่ากระตุ้นการเดินทางให้เพิ่มขึ้นได้หรือไม่
"ผลกระทบจากโควิดชัดเจน คนเปลี่ยนพฤติกรรมก็คงต้องใช้เวลากว่าจะให้ผู้โดยสารกลับมา เรื่องเศรษฐกิจตอนนี้น่าจะเริ่มเงยหัวขึ้น มันก็ควรจะเป็นทิศทางที่ดี บวกกับรัฐบาลใหม่มา เดี๋ยวคงมีโครงการใหม่ๆออกมา"
สำหรับนโยบายตั๋ว 20 บาทตลอดสายนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หากรัฐบาลดำเนินนโยบายนี้จะช่วยผู้โดยสารใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น แต่ราคาตั๋วหากได้รับการชดเชยจากรัฐบาล บริษัทก็เห็นดีด้วย
*ไม่ห่วงสัมปทานสายสีเขียวใกล้หมดอายุเพราะติดล็อกส่วนต่อขยาย
สำหรับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงอ่อนนุช-หมอชิด (สายสุขุมวิท) และ ช่วงสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ (สายสีลม) ที่ใกล้จะหมออายุสัมปทานในปี 2572 นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอทางกรุงเทพมหานคร (กทม.)ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งกทม.ต้องแจ้งให้ BTS รับทราบก่อนสิ้นอายุสัมปทาน 5 ปี
แต่บริษัทฯมีสัญญาจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายทั้งสองฝั่งไปถึงปี 2585 หากสัญญาสัมปทานเส้นทางหลักหมดอายุ ทางกทม.ก็มีทางเลือกว่าจะเจรจากับบริษัทเพื่อเดินรถต่อเนื่อง หรือเปิดประมูล ซึ่งหากให้รายใหม่เข้ามาเดินรถเส้นทางหลักก็จะติดสัญญาจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่เป็นสิทธิของบริษัท
*รอลุ้นศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดี กทม.ค้างเงินค่าจ้างเดินรถ
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินคืนหนี้จาก กทม.จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาทในเร็ว ๆ นี้ จากงานว่าจ้างลงทุนระบบเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกลรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยบริษัทจะนำไปชำระหนี้เพื่อทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลง ช่วยให้มีความสามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การรับเงินคืนจาก กทม.ยังไม่มีผลต่องบกำไรขาดทุน เพราะได้บันทึกไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่จะช่วยทำให้สภาพคล่องดีขึ้น
ขณะที่หนี้คงค้างในส่วนที่เป็นงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง (O&M) รวมค่าเช่าชบวนรถไฟฟ้าประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่ง BTSC ได้ฟ้องศาลปกครองครั้งที่ 1 มีจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท และ ฟ้องเพิ่มอีกในครั้งที่ 2 อีกจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท และยังมีส่วนที่เหลือที่ยังไม่ได้ยื่นคำฟ้องราว 1 หมื่นล้านบาท
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การฟ้องครั้งที่ 1 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จ่ายหนี้และดอกเบี้ยรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่ง กทม.ได้ยื่นอุทธรณ์ และศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวนครั้งแรกแล้วและตุลาการแถลงมีความเห็นยืนตามศาลปกครองกลางเมื่อ 17 ส.ค.66 ซึ่งผ่านมากว่า 6 เดือนแล้ว คาดว่าศาลน่าจะใกล้มีคำตัดสินแล้ว หากเป็นไปตามทิศทางเดียวกับศาลชั้นต้นและตุลาการแถลงคดี กทม.ก็ต้องจ่ายให้กับบริษัทภายใน 180 วัน คาดว่าบริษัทจะรับรู้ในงวดปี 2567/2568
ส่วนคดีที่ 2 ที่ฟ้องเพิ่มหนี้ค่าจ้าง O&M นั้น ปัจจุบัน ศาลปกครองยังไม่เรียกไต่สวน คาดว่าน่าจะรอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา เพราะลักษณะคดีเหมือนกันต่างกันเพียงระยะเวลา ซึ่งบริษัทก็รอฟังเช่นกันเพื่อจะได้รู้ทิศทางว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร และจะฟ้องเรียกคืนค่าจ้าง O&M ในส่วนที่เหลือด้วย
https://youtu.be/RlUhiy6aKXU