EA พุ่ง 10.08% เพิ่มขึ้น 3.25 บาท มาที่ 35.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 645.87 ล้านบาท เมื่อเวลา 14.56 น.จากราคาเปิด 32.50 บาท ราคาขึ้นไปสูงสุด 35.50 บาท ราคาต่ำสุด 32.50 บาท
NEX บวก 6.32% เพิ่มขึ้น 0.60 บาท มาที่ 10.10 บาท มูลค่าซื้อขาย 89.98 ล้านบาท
BYD บวก 6.63% เพิ่มขึ้น 0.22 บาท มาที่ 3.54 บาท มูลค่าซื้อขาย 37.72 ล้านบาท
นายทาคาฮิโระ อาราอิ (Takahiro Arai) ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายวัตถุดิบยานยนต์และเศรษฐกิจนิเวศ บริษัท โตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TOYOTA TSUSHO CORPORATION) และบริษัท เดนโซ่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (DENSO CORPORATION) รวมถึงบมจ. เน็กซ์ พอยท์ (NEX) ร่วมลงนามความร่วมมือระหว่างสามฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าพาณิชย์ พลังงานไฮโดรเจน รายแรกในประเทศไทย โดยบริษัทฯ มุ่งนำไปให้บริการในกลุ่มบริษัทพันธมิตรทางธุรกิจที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการนำมาใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศ และมุ่งเน้นสำหรับการใช้งานในกลุ่มรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยมีเป้าหมายให้รถที่ผลิตนั้นสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือสูงกว่ารถสันดาป สามารถวิ่งได้ในระยะทางไกลต่อการเติมเชื้อเพลิงหนึ่งครั้ง และลดการปล่อยมลภาวะ โดยมีเป้าหมายเร่งผลิตต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนให้แล้วเสร็จในไตรมาส 4/67
"หากโครงการความร่วมมือครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ทางกลุ่มผู้พัฒนามีแผนที่จะขยายขนาดของโครงการเป็นฟลีทขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในประเทศ และลดผลกระทบต่อระบบนิเวศจากภาคขนส่ง ทั้งนี้ที่เลือกจับมือกับ NEX เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพและความมั่นคงของ NEX ในฐานะเป็นบริษัทผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย ที่มีโรงงานผลิตและประกอบยนต์ยานไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แบบครบวงจร มีการผลิตและส่งออกเป็นที่ยอมรับในอาเซียน ที่สำคัญเป็นบริษัทฯ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย โดยจะใช้จุดแข็งของ TOYOTA TSUSHO DENSO และ NEX มาผสานให้เกิดความแข็งแกร่งร่วมกัน"
ด้านนายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เน็กซ์ พอยท์ (NEX) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง NEX กับกลุ่มบริษัท โตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TOYOTA TSUSHO CORPORATION) ,บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด และกลุ่มบริษัทเด็นโซ่ เป็นการพัฒนาที่ก้าวไปอีกขั้น จากการผลิตยานยนต์เชิงพาณิชย์ พลังงานไฟฟ้า 100 % มาเป็นพลังงานไฮโดรเจนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการตอบสนองความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายของรัฐบาล ที่พยายามผลักดันและสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถบัสโดยสารไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้ 2 เท่าในกรณีที่ซื้อรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ รวมทั้งผลักดันให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เปลี่ยนมาใช้รถ EV เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5 คาดว่าจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ พลังงานไฮโดรเจน ได้สำเร็จในไตรมาส 4 ปี 2567 นี้แน่นอน
"ความร่วมมือครั้งนี้ ทุกฝ่ายทั้งเน็กซ์ พอยท์ ,โตโยต้า ทูโช และเดนโซ่ มีส่วนร่วมในการออกแบบบูรณาการรถบรรทุก โดยโตโยต้า ทูโช รับผิดชอบทางด้านการประสานงานโครงการพัฒนา การจัดหาอุปกรณ์ที่เกียวข้องกับระบบไฮโดรเจน และให้ความร่วมมือในการประเมินประสิทธิภาพของยานพาหนะ, เดนโซ่ จะพัฒนาและจัดเตรียมข้อมูลของระบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงการสนับสนุนด้านเทคนิคและร่วมมือในการประเมินรถ และเน็กซ์ พอยท์ รับผิดชอบในการพัฒนารถ การผลิตและดัดแปลงยานยนต์ที่จะใช้เป็นพื้นฐานรวมถึงการติดตั้งและทดสอบผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจยานยนต์ไทย ตอบโจทย์ทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ส่งออกไทยที่กำลังเผชิญกับมาตรการซีแบม (CBAM) และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากภาคขนส่ง เพื่อส่งเสริมและตอบสนองนโยบายของรัฐบาล" นายคณิสสร์ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโตโยต้า ทูโช และ เดนโซ่ มีการพัฒนาระบบ Fuel Cell ซึ่งเป็นอุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรงผ่านกระบวนการทางเคมีไฟฟ้า โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการเผาไหม้ ถือเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง โดยได้นำไปใช้งานด้านพลังงานต่างๆ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยนำมาใช้ในยานพาหนะที่ผลิตในประเทศไทย ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นโครงการความร่วมมือแรก ที่เน็กซ์ พอยท์ และโตโยต้า ทูโช จะร่วมกันพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน ที่ผลิตในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยมุ่งเน้นที่ยานยนต์เชิงพาณิชย์เป็นหลัก เนื่องจากสามารถช่วยลดผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากที่สุด
นายคณิสสร์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ของ NEX มีกำลังการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ถึงปีละประมาณ 9,000 คัน ดังนั้นบริษัทฯ จึงยังมีขีดความสามารถในการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และมองว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าของเน็กซ์ พอยท์ ซึ่งมีทั้งรถบัสไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถตู้ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถหัวลากไฟฟ้า โดยมาจากยอดขายรถ 5,556 คัน ซึ่งปัจจุบันยังมีคำสั่งซื้อค้างอยู่ 2,757 คัน เป็นรถบัสโดยสารไฟฟ้าเกือบ 1,000 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้าอีกกว่า 1,000 คัน คาดว่าจะส่งมอบรถตามออเดอร์ได้ทั้งหมดในปี 2567 นอกจากนี้ยังมีรถกระบะ EV จำนวน 229 คันที่จองในงาน Motor Expo เมื่อเดือนธันวาคม 2566 น่าจะส่งมอบได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2567 ทั้งนี้ความไว้วางใจจาก โตโยต้า ทูโช และ เดนโซ่ เป็นการตอกย้ำถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและศักยภาพของบริษัท โดยในครั้งนี้เชื่อว่าน่าจะดันเป้าหมายของ NEX ให้เติบโตแข็งแกร่ง มีผลประกอบการแตะ 20,000 ล้านบาท ในสิ้นปี 67 ตามที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน
ขณะที่บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้ผนึกกำลัง บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) ศึกษาแผนร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่ประกอบธุรกิจผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน Sustainable Aviation Fuel (SAF) เพื่อส่งเสริมเป้าหมายอุตสาหกรรมการบินก้าวสู่ Net Zero ภายในปี 2573
ด้านบล.กสิกรไทย ระบุหลังการประชุมนักวิเคราะห์ว่า ธุรกิจ EV ปีนี้ EA เน้นไปที่รถหัวลากไฟฟ้า (E-truck) โดยตั้งเป้าส่งมอบ 3,700 คัน ในปี 67 (บน battery ขนาด 282kWh - 423kWh ต่อคัน ซึ่งเป็นขนาดแบตเตอรี่ของรถหัวลากที่ EA ขายอยู่ จะใช้แบตเตอรี่รวม 1.04-1.57 GWh) โดยในปี 65-66 ส่งมอบ E-truck ไปแล้ว 472 คัน โดยการขายส่วนมากจะขายพร้อมการวาง infrasturcture และติดตั้ง Megawatt Charger โดยบริษัทมองว่าอัตรากำไรของ E-truck จะดีกว่า E-bus ที่ขายเดิม
ธุรกิจแบตเตอรี่ บริษัทอยู่ระหว่างเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานแบตเตอรี่จากปัจจุบันที่ 1 GWh เป็น 2 GWh และคาดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 3-4 ปี 67 และหลังจากนี้จะทยอยขยายกำลังการผลิตตาม demand ที่เข้ามา
ธุรกิจ Power จะเน้นไปที่การทำ Private PPA และ solar roof มากขึ้น
ธุรกิจ SAF (Sustainable Aviation Fuels) ตั้งเป้าผลิต 1 ล้านลิตร/วัน โดยปี 67 จะเริ่มเฟสแรกที่ 1 แสนลิตร/วัน บริษัทมองเป็นตลาดที่สามารถเติบโตได้สูง โดยเฉพาะได้แรงสนับสนุนจากนโยบายของยุโรป และล่าสุดมีการลงนามความร่วมมือกับ BAFS ซึ่งจะช่วยในการขยายตลาดของ SAF
CAPEX ปี 67 อยู่ที่ 6 พันล้านบาท (จากธุรกิจ Power 58%, EV 38%, Biodiesel 4%) โดย CAPEX 5 ปี (67-71) อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท (จากธุรกิจ EV 69%, Power 30%)
ยอดขายรถ EV bus ที่ขายให้ Thai Smile Bus หมดตั้งแต่ปี 66 แล้ว และยอด E-truck จะเริ่มเข้ามาในช่วงไตรมาส 2/67 และจะเข้ามาอย่างมีนัยฯในช่วงไตรมาส 3/67
ทั้งนี้เรามีมุมมองเป็นกลาง เนื่องจากเป้าการขาย EV-truck ที่ 3,700 คัน ยังไม่ได้แตกต่างจากเป้าเดิมของบริษัทและสมมติฐานของเราอย่างมีนัยฯ (3,300 คัน) และยังมีความท้าทาย (ปี 66 ส่งมอบ EV ได้ 2,264 คัน, ปี 65 ส่งมอบ 1,160 คัน)
คงคำแนะนำ ถือ ราคาเป้าหมายที่ 44.50 บาท แม้ราคาเป้าหมายเรายังมี upside แต่มองระยะสั้นไตรมาส 1/67 แนวโน้มกำไรไม่เด่น คาดกำไรจะลดลงทั้ง YoY และ QoQ เนื่องจากเห็นผลกระทบจากรายได้ที่หายไปจาก Adder เต็มไตรมาสเป็นครั้งแรก (Adder 6.5บาท/kWh จำนวน 90 MW หมดอายุ ธ.ค.66 ซึ่งเราประเมินกระทบกำไรราว 1.4 พันล้านบาท/ปี) ในขณะที่ธุรกิจ EV มีการส่งมอบรถที่จำกัด