พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) แจ้งข้อหานายเจษฎา เก่งรุ่งเรืองชัย กรรมการบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด 4 คดี คือ ที่ตั้งบริษัทมีความผิด ตาม พ.ร.บ.โรงงาน, ครอบครองวัตถุอันตราย , ร่วมกันครอบครองวัตถุอันตรายกรณีที่ได้ทำสัญญาเช่าโกดังเก็บกากแคดเมียม และความผิด ข้อหา ครอบครองวัตถุอันตราย กรณีเป็นกรรมการบริษัท ล้อโลหะไทย แมททอล จำกัด ย่านบางซื่อ กทม.ที่นำกากแคดเมียมมาฝากไว้
พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส. กล่าวว่า วันนี้นายเจษฎา เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกครั้งที่ 2 พร้อมกับทนายความและภรรยา จากการคุยนอกรอบนายเจษฎาเปิดเผยเบื้องต้นว่าทำสัญญาซื้อกากแคดเมียมจาก บมจ.เบาด์ แอนด์ บียอนด์ (BEYOND) กิโลกรัมละ 1.25 บาท โดยในสัญญาระบุให้ เจ แอนด์ บี เมททอล รับไปกำจัด
นายเจษฎายอมรับว่าตอนแรกจะพยายามส่งออกไปหลอมที่ลาวโดยมีคนจีนรอรับซื้อ เพราะในลาวมีบริษัทที่สามารถแยกแคดเมียม ทองแดง และสังกะสีได้ แต่ปรากฏว่านายจางเข้ามาติดต่อขอซื้อกากแคดเมียม 5 พันตัน จึงขายให้กิโลกรัม 8.25 บาท ซึ่งนายจางส่งรถมารับเพื่อนำไปไว้ที่จ.ชลบุรี และพบว่านายจางพยายามขายต่อให้คนอื่นอีกที แต่ไม่ให้นายเจษฎารู้ ส่วนล็อตที่จะส่งไปลาวยังไม่มีการตกลงที่แน่ชัดและประเมินราคาไม่น่าจะต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8.25 บาทแน่นอน
พล.ต.ต.วัชรินทร์ ยืนยันว่า การที่บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล นำไปขายต่อถือว่าผิดวัตถุประสงค์ในสัญญาซื้อขาย เพราะบริษัทมีใบอนุญาตกำจัด และสัญญาซื้อขายก็ระบุว่าซื้อมากำจัด โดยนายเจษฎายืนยันว่ามีเครื่องมือรกำจัดที่ซื้อมาจากประเทศอังกฤษ แต่ตอนนี้เครื่องมืออยู่ระหว่างซ่อมแซม ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องไปตรวจสอบเครื่องจักรดังกล่าว แต่เชื่อว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงน่าจะต้องการนำไปขายต่อมากกว่ากำจัด
ส่วนที่บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล ต้องนำกากแร่ไปฝากโกดังอื่นๆที่ไปพบก่อนหน้านี้นายเจษฎา ให้การว่า ที่จัดเก็บไม่เพียงพอ จึงต้องนำไปจัดเก็บที่อื่น แต่จะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่จำเป็นที่ต้องสอบในทางลึกอีกที
เมื่อถามว่าการขออนุญาตให้ขนกากแคดเมียมจากตาก 13,800 ตันทั้งที่ปลายทางไม่มีพื้นที่จัดเก็บเพียงพอการรองรับ หน่วยงานใดต้องตรวจสอบ ระหว่างอุตสาหกรรมตากต้นทางหรืออุตสาหกรรมปลายทาง พล.ต.ต.วัชรินทร์ ยืนยันว่า ต้องเป็นปลายทาง โดยเมื่อแรกขนย้ายมาถึงจังหวัดสมุทรสาครแล้วก็เป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ โดยนายเจษฎาให้การว่า อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครเคยเข้ามาตรวจสอบแล้วหนึ่งครั้ง
แต่เมื่อจำนวนกากแร่ไม่ตรงกับที่สำแดง กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว ส่วนตำรวจก็สืบสวนไปด้วยเพื่อนำข้อมูลไปเทียบเคียงกัน หาก บก.ปทส.พบเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องก็จะส่งเรื่องเอาผิด ซึ่งจะดำเนินการไปควบคู่กับคดีอาญา นอกจากนี้ได้มีการประสานงานกับประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมในทางลับอยู่แล้ว
สำหรับการตรวจสอบบริษัทต้นทาง คือ BEYOND พล.ต.ต.วัชรินทร์ เปิดเผยว่า บริษัทต้นทางต้องรับผิดชอบตามประกาศกระทรวง ปี 66 และผู้ก่อมลพิษก็ต้องรับผิดชอบหากก่อมลพิษจริง ส่วนการขนย้ายยังไม่พบว่า BEYOND มีความผิดในตอนนี้ เพราะในสัญญาซื้อขายระบุชัดว่าให้ เจ แอนด์ บี เมททอล รับผิดชอบทั้งหมดทั้งการประสานงานเจ้าหน้าที่ การขนย้าย การขอ EIA โดยให้วางเงินมัดจำไว้ 10 ล้านบาทหากมีความเสียหาย
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า BEYOND อาจฝ่าฝืน EIA เนื่องจากขุดกากแร่ขึ้นมา พล.ต.ต.วัชรินทร์ กล่าวว่า การกำหนด EIA เป็นเรื่องของกรมควบคุมมลพิษ
ส่วนกรณีกระทรวงการคลังถือหุ้น 10.76% ใน BEYOND หรือเดิมคือ บมจ.ผาแดง อินดัสทรี (PDI) พล.ต.ต.วัชรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีหนังสือไปถึงอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ให้พิจารณาว่า BEYOND มีความผิดอะไรบ้าง หากพบความผิดให้อุตสาหกรรมจังหวัดตากเป็นผู้ร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนบก.ปทส. เนื่องจากตอนนี้ ยังไม่พบความผิดทางอาญาทำให้พนักงานสอบสวนยังไม่สามารถดำเนินการได้
ขณะที่ นายเจษฎา เปิดเผยหลังพบกับพนักงานสอบสวนว่า ได้ทำสัญญาเพื่อซื้อแร่สังกะสี แต่มีกากแร่แคดเมียมปะปนเข้ามาด้วย สาเหตุที่ซื้อมาเพราะโรงงานต้นทางที่ถลุงแร่ในอดีตมีการฝังกลบและโรยปูนขาวและปูนพอตแลนต์ลงไปทำให้ปริมาณความเข้มข้นของกากแร่แคดเมียมนั้นลดลง จึงสามารถซื้อขายได้
การที่ได้กากแร่แคดเมียมดังกล่าวมานั้นมาจากการประมูลที่มีผู้ประกอบการเจ้าอื่นร่วมประมูลด้วยอีก 4 โรงงาน และบริษัทชนะประมูลมาได้จำนวน 8 ล้านบาท และต้องการแร่สังกะสีที่นำไปขายต่อได้กิโลกรัมละ 300 กว่าบาท แต่ไม่ได้ต้องการแร่แคดเมียมแต่ก็มีผสมมาด้วยอยู่แล้วจึงต้องนำไปคัดแยก
กากแร่ที่ครอบครองมีทั้งหมด 13,800 ตัน และมีกากแร่แคดเมียมผสมอยู่เพียง 38% เท่านั้น จากการที่กรมวิทยาศาสตร์นำแร่ในโรงงานไปเทส อีกทั้ง พบว่าแคดเมียมไม่ใช่แคดเมียมบริสุทธิ์ เป็นเพียงกากแร่แคดเมียมผสมเท่านั้น ซึ่งยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เพราะเมื่อเทียบกับปริมาณที่จะส่งผลอันตรายต่อมนุษย์นั้นต้องสูงถึง 100-150%
"กากแร่แคดเมียมไม่ได้อันตรายตามที่สื่อบางสื่อลง และมีความปลอดภัย เพราะกากแร่แคดเมียมมีผสมอยู่ในถ่านรีโมทของทุกบ้าน หรือแบตเตอรี่รถยนต์ ขออย่าไปตกใจ ลองไปเสิร์ช Google ดูได้ว่ากากแร่แคดเมียมไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด"นายเจษฎา กล่าว
ตั้งแต่มีข่าวปรากฏสื่อหลายสำนักมีการนำเสนอทำให้เกิดความเข้าใจผิดถึงโทษและพิษภัยของกากแคดเมียมที่รุนแรงเกินความเป็นจริง ทำให้ตนเองเสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ส่วนกรณีที่คนในโรงงานและคนรอบโรงงานออกมาบอกว่าได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ นายเจษฎา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ต้องไปตรวจสอบโรงงานรอบๆด้วย
สำหรับสัญญาซื้อขายกับ BEYOND ซื้อมาเพื่อนำไปกำจัด แต่การนำไปขายต่อ เพราะหมุนเงินไม่ทันจึงต้องนำไปขาย ส่วนปริมาณที่นำมาตอนแรก 13,800 ตัน แต่ที่พบล่าสุดมีเพียงกว่า 12,000 ตัน เป็นเพราะน้ำหนักลดลงจากที่ตอยแรกนำมามีลักษณะหนักและเปียก แต่เมื่อแห้งลงปริมาณจึงลดลง ส่วนที่บอกว่าจะนำไปจำหน่ายต่อที่ สปป.ลาว ตอนนี้กำลังดำเนินเรื่องจากกรมโรงงานอยู่ เพราะทาง สปป.ลาวมีโรงงานที่คัดแยกกากแร่ดังกล่าว
เบื้องต้นนายเจษฎา ยืนยัน ว่ากระบวนการทุกอย่างตั้งแต่ต้นทางจังหวัดตาก มาจนถึงจังหวัดสมุทรสาคร นั้นถูกต้องทุกอย่างทั้งเอกสาร และในส่วนที่ต้องกระจายไปยังโกดังอื่น เพราะกากแร่มีจำนวนมากพื้นที่ของบริษัทไม่เพียงพอ จึงต้องไปเช่าที่โรงงานอื่นเก็บ และยอมรับว่าการนำไปขายต่อเป็นการผิดสัญญาที่ต้องนำไปกำจัด พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่นอมินีกลุ่มทุนจีน
"กรณีนี้มีการเตรียมการแร่ส่งออกไปยัง สปป.ลาว แล้วก็มีการหลอมไปบ้างแล้วแต่ไม่ได้เยอะมาก หากนำไปขายที่ลาวจะขายแพงกว่าที่ขายให้นายจาง จะขายได้ถึง 8.25 ต่อกิโลกรัม จากเดิม 1.25 ต่อกิโลกรัม และจะขายเป็นแบบจัมโบ้แบ็กเพื่อไปให้ทาง สปป.ลาวแยก ทองแดง สังกะสี แคดเมียม กากที่ผมต้องการมีเพียงแค่ทองแดง เพราะนำไปขายต่อได้ราคาสูง"
นายเจษฎา ยืนยันอีกว่าไม่ได้มีใครมาเป็นที่ปรึกษา หรือมีใครมาถือหุ้นในบริษัท และไม่มีนักการเมืองมาเกี่ยวข้องแน่นอน เชื่อว่าถูกกลั่นแกล้ง จากคนที่ประมูลไม่ได้ ทั้งที่เอกสารทั้งหมดถูกต้อง ดังนั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายและเตรียมที่จะดำเนินคดีกลับด้วยที่ทำให้เสียหาย