ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/67 ที่ 10,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% จากไตรมาส 4/66 และเพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินรับฝากเพิ่มขึ้น ตามการทยอยปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากเมื่อครบกำหนด ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 3.06% ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากรายได้จากการลงทุน ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากบริการประกันผ่านธนาคารและกองทุนรวมเติบโตดีจากไตรมาสก่อน
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 47.1% โดยธนาคารพิจารณาตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,582 ล้านบาท ภายใต้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า และยังดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ขณะเดียวกัน ณ สิ้นเดือนมี.ค. 67 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,736,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% จากสิ้นปีก่อน จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 3% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 66 ที่ 2.7% ซึ่งธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 291.7%
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมี.ค. 67 จำนวน 3,198,332 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 85.6% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 19.7% 16.3% และ 15.6% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
สำหรับไตรมาส 1/67 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคบริการตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวชาวจีน จากนโยบายการยกเลิกวีซ่า แต่อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกของไทยยังคงชะลอตัวตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนตัวลง การใช้จ่ายภาครัฐที่ยังหดตัว ทั้งในด้านรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางจากการที่งบประมาณประจำปี 67 ยังคงไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากธนาคารกลางของประเทศต่างๆที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวชะลอลงจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และความขัดแย้งทางการค้าและเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ความขัดแย้งทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากบริบทโลกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และกฎเกณฑ์ของทางการ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่กระทบการดำเนินธุรกิจ