ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตของตราสารค้ำประกันประเภทกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ไม่มีกำหนดอายุ ของ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ที่ ?BBB?
อันดับเครดิตของตราสารค้ำประกันดังกล่าวสะท้อนถึงการได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้จาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ?BBB? แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ผ่านสาขาที่สิงคโปร์
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกัน ? ตราสารดังกล่าวมีอันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ (Senior Unsecured Rating) ของผู้ค้ำประกัน คือ BBL เพื่อสะท้อนถึงการได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้จาก BBL โดยภาระจากการค้ำประกันมีสถานะเท่าเทียมกันกับภาระผูกพันที่ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของ BBL
วันครบกำหนดไถ่ถอนที่น่าจะเป็น ? ฟิทช์มองว่า วันครบกำหนดอายุการค้ำประกัน (First Reset Date) เป็นวันครบกำหนดไถ่ถอนที่น่าจะเป็น (Effective Maturity Date) ของตราสารดังกล่าว การค้ำประกันเต็มจำนวนจะมีผลบังคับจนถึงวันที่มีการจ่ายภาระผูกพันค้างชำระทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับตราสารอย่างครบถ้วนถูกต้องเต็มจำนวน หรือจนถึง First Reset Date (19 กรกฎาคม 2569) สำหรับตราสารที่มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.7 ต่อปี แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน โดยที่ผู้ถือตราสารต้องมีการปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนด
ความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน ? ในกรณีที่ MINT ไม่เรียกคืนตราสารในวันที่สามารถเรียกคืนได้ก่อนถึงวัน First Reset Date (Non-call Event) ผู้ค้ำประกันจำเป็นจะต้องซื้อคืนตราสารดังกล่าวทั้งหมด ในราคาที่ครอบคลุมทั้งเงินต้น ดอกเบี้ยค้างจ่าย ดอกเบี้ยตั้งพัก และดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยตั้งพัก ทั้งนี้ นอกเหนือจากการบังคับซื้อคืนในกรณี Non-call Event ดังกล่าว หาก MINT เข้าสู่ภาวะล้มละลาย 30 วันก่อนที่จะถึง First Reset Date BBL ก็มีภาระผูกพันที่จะต้องซื้อคืนตราสาร ในราคาที่คำนวณบนหลักการเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้นเช่นกัน
จำนวนเงินที่ค้ำประกันสูงสุด ? จำนวนเงินที่ค้ำประกันทั้งหมดโดย BBL ถูกจำกัดไว้ไม่เกินกว่าร้อยละ 115 ของเงินต้น ซึ่งน่าจะครอบคลุมเงินต้น ดอกเบี้ยค้างจ่าย ดอกเบี้ยตั้งพัก และดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยตั้งพัก ที่น่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดของตราสารในช่วงเวลาที่มีการค้างชำระ
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของตราสารค้ำประกันดังกล่าวสะท้อนถึงการได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้จาก BBL
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL จะส่งผลเช่นเดียวกับอันดับเครดิตของตราสารค้ำประกันของ MINT เนื่องจากเป็นตราสารที่ถูกค้ำประกันเต็มจำนวนโดย BBL
สำหรับ BBL ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศในอนาคตที่ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ
การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BBL จะเกิดขึ้นเมื่อทั้งอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินถูกปรับลดอันดับลงพร้อมกัน อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอาจได้รับการปรับลดเป็น 'AA(tha)' หากฟิทช์มองว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคารปรับตัวอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศไทย
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจถูกปรับลดลงเป็น 'bbb-' หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญซึ่งบ่งชี้ฐานะทางการเงินของธนาคารปรับตัวแย่ลง ซึ่งอาจสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่อ่อนแอลงมากแต่ก็สะท้อนถึงโครงสร้างความเสี่ยงของธนาคารที่อ่อนแอลงมากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ด้วยเช่นกัน ภาวะกดดันดังกล่าวอาจบ่งชี้โดยค่าเฉลี่ย 4 ปีย้อนหลังของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 6% หรือมากกว่า (ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4%) ร่วมกับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่อ่อนแอลง เช่น อัตราส่วน CET1 ที่ต่ำกว่า 13% (และอัตราส่วนสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ต่ำกว่า 120%) และ/หรือและการไม่สามารถรักษาระดับอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับสูงกว่า 1.5% ได้
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจถูกปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับ ซึ่งจะบ่งชี้ถึงความสามารถที่ลดลงของรัฐบาลในการสนับสนุนธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ การลดลงของโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ BBL อาจทำให้อันดับเครดิตถูกปรับไปในทางลบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ส่วนแบ่งการตลาดของธนาคารที่ลดลงอย่างมากหรือมีการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่โอกาสที่ BBL จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะปรับตัวลดลงในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และ อันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลหรืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับเพิ่มอันดับ ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL ได้รวมการพิจารณาถึงโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb+' ในระยะยาวหากธนาคารดำเนินการตามกลยุทธ์ได้สำเร็จและนำไปสู่การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของผลการดำเนินงานโดยที่โครงสร้างความเสี่ยงของธนาคารไม่ได้ปรับตัวแย่ลง อาจจะสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราส่วนสำคัญทางการเงินมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและยั่งยืน เช่น อัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ยในระดับที่สูงกว่า 2.5% และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพโดยเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 3% รวมกับการดำรงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอื่นๆ เช่น อัตราส่วน CET1 ที่ระดับสูงกว่า 16%
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลต้องคำนึงว่าโอกาสในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบว่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิมหรือไม่ หากอันดับเครดิตของประเทศปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดิม