CONSENSUS: SCGP แจ้งงบ Q1/67 พรุ่งนี้ ลุ้นกำไรฟื้นตามดีมานด์กิน-ดื่มอานิสงส์ท่องเที่ยวคึกคัก-ส่งออกโต

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 22, 2024 12:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เก็งงบไตรมาส 1/67 ประกาศ 23 เม.ย.นี้ คาดกำไรฟื้นตัวทั้ง QoQ และ YoY ตามดีมานด์บรรจุภัณฑ์ที่ฟื้นตัวดีขึ้น ตามภาคการท่องเที่ยวคึกคักและกำลังซื้อกลับมา รวมถึงการส่งออก โดยดีมานด์จากจีนดีขึ้นตามตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยประกาศออกมา ส่งสัญญาณเชิงบวก ส่วนธุรกิจเยื่อและกระดาษ (FB) ฟื้นตัวโดดเด่นจากราคาขายที่ปรับเพิ่มขึ้น

หุ้น SCGP ปิดเที่ยงวันนี้ที่ 31.50 บาท บวก 0.80% ขณะที่ SET บวก 1.13%

          โบรกเกอร์                   คำแนะนำ             ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          บัวหลวง                       ซื้อ                     58.00
          ฟินันเซีย ไซรัส                  ซื้อ                     43.00
          เมย์แบงก์ฯ                     ซื้อ                     42.00
          ยูโอบีฯ                        ซื้อ                     38.00
          เคจีไอ                        ซื้อ                     36.00
          ลิเบอเรเตอร์                   ซื้อ                     36.00
          หยวนต้า                       ซื้อ                     34.00

น.ส.นารี อภิเศวตกานต์ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า คาดกำไร SCGP ไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 1,464 ล้านบาท +20% y-y +20.2% q-q โดยฟื้นตัวทั้ง y-y และ q-q จากกลุ่มบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Business :IPB) อุปสงค์ในประเทศดีขึ้น จากกลุ่มอาหารเครื่องดื่ม กลุ่ม FMCG ตามภาคท่องเที่ยวที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับตลาดส่งออกดีขึ้นของกลุ่มอาหารแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงกลุ่มสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็เริ่มเห็นอุปสงค์เริ่มกลับมา และกลุ่มเครื่องนุ่งห่มฟื้นตัวจากตรุษจีน

ส่วนการดำเนินงานในเวียดนามคาดหดตัว q-q จากเทศกาลเต็ด ซึ่งมีวันหยุดยาว 1 สัปดาห์ ทำให้อุปสงค์หายไปบางส่วน

ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอย่างกระดาษรีไซเคิลนำเข้า(RCP) +13% q-q ตามอุปสงค์ที่ดีขึ้น เป็นปัจจัยกดดันต้นทุนการผลิตให้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทหันมาใช้กระดาษในประเทศเพิ่มขึ้นทดแทนการนำเข้า ช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ โดยไตรมาสนี้มีสัดส่วนการใช้ RCP ในประเทศมากถึง 70% และยังได้ผลบวกจากราคาพลังงานทรงตัว q-q

กลุ่มเยื่อและกระดาษ (Fibrous Business) จากช่วงก่อนหน้านี้มีปัญหาอุปทานตึงตัวทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ในอเมริกาใต้ปรับราคาขึ้นภายใต้อุปสงค์ฟื้นตัวจากบรรจุภัณฑ์สินค้า foodservice และกลุ่มกระดาษที่ดีขึ้น จากปริมาณขายและราคาขายที่ดีขึ้น แม้แนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบอาจเพิ่มขึ้น แต่บริษัทสามารถจัดการปัญหาได้

ต้นทุนพลังงานทรงตัว q-q คาดว่าจะทำให้ EBITDA margin ทั้งจากกลุ่ม IPB และ Fibrous ดีขึ้นทั้ง y-y และ q-q ได้ และคาดว่าจะไม่มีรายการพิเศษอื่นๆ

"เรื่องแย่ๆ ก็น่าจะผ่านไปในไตรมาส 4/66 แล้ว คาดว่าไตรมาส 1/67 ก็น่าจะฟื้นตัวได้ และสัญญาณที่ฟื้นตัวน่าจะส่งผลต่อเนื่องไปในไตรมาส 2/67 ด้วย จากการปรับราคาขายกระดาษขึ้นได้อีก และผลการดำเนินงานในเวียดนามก็น่าจะกลับมาดีขึ้นได้ในไตรมาส 2/67 จากการกลับมาเดินเครื่องผลิตเต็มที่ หนุนต่อปริมาณการขายดีขึ้น รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนต่างๆ ที่ประกาศออกมาก็มีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน" น.ส.นารี กล่าว

ส่วนเรื่องการหาผู้ร่วมทุนใหม่ในโครงการ Fajar (ปัจจุบัน SCGP ถือหุ้นใน Fajar อยู่ 55.24%) ที่ยังเป็นปัจจัยกดดันอยู่ ก็ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งบริษัทจะให้ข้อมูลได้ในประชุมนักวิเคราะห์ ไตรมาส 1/67 ปลายเดือน เม.ย.นี้ และน่าจะทราบผลว่าดีลนี้จะทำอย่างไรต่อไปได้ในเดือน มิ.ย.67

แนวโน้มระยะยาว มอง SCGP ยังมีความน่าสนใจ จากปัจจุบันเทรดอยู่บน P/E 20-21 เท่า ให้ราคาเหมาะสมที่ 36 บาท

ขณะที่ บล.ยูโอบีฯ ระบุว่า คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/67 ที่ 1.52 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% ทั้ง qoq และ yoy เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของ Demand บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาค ส่งผลให้ยอดขายรวมและราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น 5.2% qoq และ 4.4% qoq ตามลำดับ ปัจจัยบวกจาก Demand ที่ฟื้นตัวเพียงพอชดเชย Negative Impact จากต้นทุนผลิตที่ปรับเพิ่นขึ้น ทำให้เราคาดว่า EBITDA Margin ของธุรกิจ Integrated Packaging Business (IPB) และ Fibrous Business (FB) จะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 14.8% และ 16.4% ตามลำดับ (เทียบกับไตรมาส 4/66 ที่ 14.5% และ 15.5%)

Demand บรรจุภัณฑ์ฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่าธุรกิจ IPB จะมี EBITDA Margin อยู่ที่ 14.8% (เทียบกับไตรมาส 1/66 ที่ 14.3% และไตรมาส 4/66 ที่ 14.5%) เป็นผลมาจากการฟื้นตัวทั้ง qoq และ yoy ของ Demand บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะในไทย และอินโดนีเชีย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นเวียดนามที่ยังมีผลกระทบจาก Low season รวมไปถึงการนำเข้ากระดาษจากจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปัจจัยบวกดังกล่าวเพียงพอชดเชยต้นทุนผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคา Recycled paper (RCP) ทำให้เราคาดว่า EBITDA Margin ของธุรกิจ IPB ปรับเพิ่มขึ้นทั้ง qoq และ yoy

ธุรกิจ FB ฟื้นตัวโดดเด่นจาก ราคาขายที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้ง Short fiber pulp และ Dissolving pulp ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2% qoq และ 5% qoq ตามลำดับ และยอดขายที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง ทำให้ธุรกิจ PB จะมี EBITDA Margin อยู่ที่ 16.4% (เทียบกับ 12.6% ในไตรมาส 1/66 และ 15.5% ในไตรมาส 4/66)

แนวโน้มกำไรปกติไตรมาส 2/67 มีโอกาสปรับเพิ่ม yoy จาก Momentum ของ Demand บรรจุภัณฑ์แข็งแกร่ง ต้นทุนการผลิตเริ่มลดลง รวมไปถึงกำลังผลิตเพิ่มขึ้นจากกลุ่ม Fiber Packaging จากโรงงานใหม่เริ่มดำเนินงานเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามกำไรปกติไตรมาส 2/67 มี Negative impact จาก Low season ของธุรกิจ

PMI ภาคการผลิตจีนฟื้นตัวเป็นสัญญาณที่ดี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดชื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน มี.ค.67 พลิกกลับมาขยายตัว อยู่ที่ 50.8 ในเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้นจาก 49.1 ในเดือน ก.พ. นอกจากนี้ NBS ระบุว่า ดัชนีรวมภาคการผลิตและบริการขยายตัวอยู่ที่ 52.7 ในเดือน มี.ค. จาก 50.9 ในเดือน ก.พ. ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา China Beige Book International (CBBI) เปิดเผย China Beige Book ซึ่งเป็นรายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจจีน ระบุว่าข้อมูลด้านเศรษฐกิจเดือนมี.ค. สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มแข็งแกร่งในไตรมาส 1/67 ส่วนการจ้างงานทำสถิติฟื้นตัวยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 63 ภาคการผลิตและค้าปลีกก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว และทำให้ Market consensus เริ่มปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 67

ดีล Farja ยังดำเนินตามแผน ข้อมุลล่าสุดยังไม่มี Update ใหม่ SCGP ยังคงแผนเข้าลงทุนใน Farja เช่นเดิม หาก SCGP ไม่สามารถหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ได้ SCGP จะเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 55.23% เงินลงทุน 21.2 พันล้านบาทภายใน มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ภาพรวม Domestic Demand ในอินโตนีชียที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจน ทำให้เราลดความกังวลต่อดีลดังกล่าว

ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 67 ของ SCGP ไว้ที่ 5.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% yoy ต่ำกว่า Consensus คาดไว้ที่ประมาณ 14% โดยเราคาดว่ารายได้รวมปี 67 อยู่ที่ 143,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4% yoy (เทียบกับเป้าหมายรายได้ของ SCGP ในปี 67 ที่ 150,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% yoy) เป็นผลมาจาก Demand packaging ในภูมิภาคฟื้นตัว โดยเฉพาะจาก 3 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย เวียดนาม และอินโดนีเชีย ซึ่ง SCGP มีสัดส่วนรายได้ในแต่ละประเทศอยู่ที่ 42% , 15% และ 14% ตามลำดับ

ด้าน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) คาดกำไร SCGP ไตรมาส 1/67 จะฟื้นตัวดีขึ้น 1,475 ล้านบาท (+25% YoY , +21% QoQ) ได้แรงหนุนจากปริมาณขายไตรมาส 1/67 เติบโต YoY ทุกประเทศ คือ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย จากการบริโภคในประเทศที่เติบโตโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม แต่ราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง YoY ทำให้คาดยอดขายทรงตัว YoY ที่ 33,800 ล้านบาท (+0% YoY , +6% QoQ)

อัตรากำไรขั้นต้นไตรมาส 1/67 คาดจะดีขึ้น 18% จาก 17.9% ในไตรมาส 4/66 และ17.6% ในไตรมาส 1/66 แรงหนุนจากราคาขายที่ปรับขึ้นและใช้เศษกระดาษในประเทศสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 60% จากปกติ 55% ช่วยลดต้นทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ