บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ชี้แจงผลประกอบการไตรมาส 1/67 บริษัทมีรายได้จากการขาย 2,093 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 2,193 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 1/66 และ ลดลงจาก 2,202 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 4/66 ขณะที่กำไรสำหรับรอบระยะเวลาอยู่ที่ 524 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 569 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 1/66 แต่เพิ่มขึ้นจาก 514 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 4/66
กำไรจากการดำเนินงานปกติลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/66 เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยของบริษัทลดลงร้อยละ 2 มาอยู่ที่ 47.24 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล รวมถึงปริมาณขายเฉลี่ยต่อวันปรับตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 473,048 บาร์เรล/วัน โดยหลักจากรอบการส่งขายน้ำมันดิบของโครงการในประเทศแอลจีเรียลดลง สุทธิกับปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) ที่ได้เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติสู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนั้น บริษัทยังคงรักษาต้นทุนต่อหน่วยให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยในไตรมาส 1/67 ต้นทุนต่อหน่วยของบริษัทอยู่ที่ 28.96 ดอลลาสหรัฐ/บาร์เรล
อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องจากในไตรมาส 4/66 มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ของโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1ในขณะที่ไตรมาสนี้ไม่มีรายการดังกล่าว บริษัทจึงรายงานผลขาดทุนที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนของฐานะการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 1/67 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 27,168 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้สินรวม 12,033 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ย 3,685 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายงานส่วนของผู้ถือหุ้น 15,135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงอยู่ในระดับดีที่ 0.24 เท่า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายทางการเงิน
PTTEP ยังรายงานแนวโน้มผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2/67 และปี 67 โดยคาดปริมาณการขายเฉลี่ย 514,000 และ 509,000 บาร์เรล/วัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปี 66 โดยหลักจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายในประเทศไทย เช่น ความสำเร็จของการเพิ่มกำลังการผลิตของโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) สู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.67 เร็วกว่าแผนงาน และโครงการบี 8/32 ที่กลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติ หลังจากในปี 66 มีการหยุดผลิตชั่วคราวจากปัญหาเรือรับก๊าซธรรมชาติของผู้ดำเนินการ
สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทนั้นมีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-24 เดือน บริษัทคาดว่าราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยสำหรับทั้งไตรมาส 2/67 และปี 67 จะอยู่ที่ประมาณ 5.9 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู โดยมีแนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า
PTTEP คาดว่าไตรมาส 2/67 และทั้งปี 67 ต้นทุนต่อหน่วยจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 66 โดยหลักจากค่าเสื่อมราคาต่อหน่วยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานในอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น จากแนวโน้มอุปสงค์ของแท่นขุดเจาะที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อุปทานมีจำกัด อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ในระดับ 28-29 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ทั้งนี้ PTTEP คาดการณ์ว่าในปี 67 อุปทานน้ำมันดิบจะยังคงตึงตัว โดยมีปัจจัยสำคัญ เช่น การเติบโตด้านเศรษฐกิจ และการ ควบคุมการผลิตของกลุ่ม OPEC+ เป็นต้น จึงคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะเคลื่อนไหวในกรอบราคา 70-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์อุปทานน้ำมันดิบโลกในปี 67 โดยคาดว่าอุปทานจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.8 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 102.9 ล้านบาร์เรล/วัน แสดงถึงอุปทานที่ตึงตัวมากขึ้น ในด้านอุปสงค์ IEA ปรับคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี 67 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ไปที่ระดับ 103.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากแนวโน้มอุปสงค์ในประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) เช่น สหรัฐ และสหภาพยุโรป
ขณะที่คาดว่าช่วงครึ่งปีแรก อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังอยู่ในระดับสูง และจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจภาพรวมคาดว่าจะฟื้นตัว รวมถึงอุปสงค์การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนส่งสัญญาณค่อย ๆ ฟื้นตัวเช่นเดียวกัน โดยในเดือน ก.พ.67 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเติบโตร้อยละ 7.0 สูงกว่าคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.3 ทำให้คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันของจีนในปี 67 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เมื่อพิจารณาสมดุลอุปสงค์และอุปทาน พบว่าปริมาณน้ำมันดิบสำรองทั่วโลกจะปรับตัวลดลงจากความต้องการใช้ที่มากกว่าปริมาณที่ผลิตได้ ทำให้ภาพรวมอุปทานตึงตัวในปี 67
ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะนี้ คือ 1) การเคลื่อนไหวของปริมาณสำรองน้ำมันดิบหลังจากที่กลุ่ม OPEC+ ขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตเป็นไตรมาส 2/67 รวมถึงตลาดคาดว่ากลุ่ม OPEC+ มีแนวโน้มจะคงนโยบายลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นปีนี้ 2) สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน อาจส่งผลต่อการขนส่งน้ำมันดิบผ่านช่องแคบฮอร์มุซรวมถึงอุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาค 3) สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงมีแนวโน้มต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น 4) แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในสหรัฐ จีนและอินเดีย และ 5) การซื้อคืนน้ำมันดิบเข้าสู่คลังสำรองทางยุทธศาสตร์ในสหรัฐ
ด้านราคาก๊าซธรรมชาติเหลว แม้ว่าสถานการณ์ตลาดโลกของ LNG ในปัจจุบันยังคงอยู่ในภาวะล้นตลาดจากก๊าซธรรมชาติคงคลังที่อยู่ในระดับสูงและอุปทานที่เพียงพอกับความต้องการอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 67 คาดว่าแนวโน้มความต้องการ LNG จะเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 2-4 เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานในฤดูร้อนของกลุ่มประเทศเอเชีย และภูมิภาคยุโรปที่จะเริ่มกักตุนLNG สำหรับฤดูหนาว โดยในปี 67 คาดว่าจะมีความต้องการ LNG รวมอยู่ที่ 439 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปี 66
ขณะที่อุปทาน ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมจากโครงการเดิม และโครงการใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 15 ล้านตันต่อปี โดยหลักจากการผลิตเพิ่มจากโครงการใหม่ ๆ ในสหรัฐ และอินโดนีเซีย ส่งผลให้อุปทานรวมในปี 67 อยู่ที่ 422 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปี 66
ในส่วนปัจจัยสำคัญที่กระทบตลาด LNG ประกอบด้วย สภาพอากาศในภูมิภาคยุโรปที่จะส่งผลต่อความต้องการ LNG การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน นโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น และมีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้น และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ คาดการณ์ราคาเฉลี่ย Asian Spot LNG สำหรับปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 9-13 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู (ข้อมูลจาก S&P Global Platts เดือน ก.พ.และ FGE เดือน มี.ค.67)