นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ธนาคารฯตั้งเป้าหมายปี 67 คาดสินเชื่อจะเติบโต 7% จากปีก่อน โดยมาจากการให้สินเชื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ NPL ของกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ ยังอยู่ในระดับต่ำ และเชื่อว่าจะยังรักษาระดับต่ำต่อเนื่อง
ขณะที่ปี 66 สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินเชื่อลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเฉพาะการให้สินเชื่อในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลดลงจำนวนมาก อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิยังขยายตัวต่อเนื่องจากมีนวัตกรรม ๆ ในการสนับสนุนความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ยังมีการกระจายการให้สินเชื่อไปยังกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ตามการลงทุนใหม่ ๆ ที่เข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะอสังริมทรัพย์ที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 และมีการลงทุนมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการกระจายพอร์ตสินเชื่อจะช่วยหนุนให้การเติบโตเป็นไปตามแผนได้
ทั้งนี้ปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ส่วนใหญ่เป็นประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อการขอสินเชื่อของลูกค้าโดยเฉพาะสินเชื่อยานยนต์ หรือกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องระมัดระวัง รวมทั้งการเข้าสู่งสังคมสูงวัย และการขาดแคลนแรงงาน อย่างไรก็ดีปัจจัยบวกในประเทศ ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย
สำหรับพอร์ตสินเชื่อของของกลุ่ม JPC/MNC ปัจจุบันอยู่ที่ 2.33 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนจากธุรกิจญี่ปุ่น (JPC) 88% และ ธุรกิจบรรษัทข้ามชาติ (MNC) ประมาณ 12%
สำหรับเป้าหมายการเติบโตใน 1-3 ปีข้างหน้าค่อนข้างมีความท้าทาย อย่างไรก็ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ธนาคารกรุงศรีฯคาดว่าจะเติบโตราว 2.7% ซึ่งธุรกิจการธนาคารจะเติบโตสอดคล้องกับตัวเลข GDP ที่มีการคาดการณ์ไว้
นายบุนเซอิ กล่าวว่าในปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติประสบความสำเร็จในการส่งมอบผลการดำเนินงานอย่างเป็นที่น่าพอใจ โดยยังคงครองความเป็นผู้นำในการเป็นธนาคารหลักสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นอย่างแข็งแกร่ง
ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับ MUFG ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศทั่วโลก เพื่อส่งมอบโซลูชันที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของทั้งกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเงิน บริการที่ปรึกษาทางธุรกิจ หรือองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงเปิดเวทีสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนผ่านการจัดงานสัมมนา และการจับคู่ทางธุรกิจ โดยมีกลุ่มลูกค้าที่ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมหนักอย่างธุรกิจพลังงาน โลหะ ผลิตภัณฑ์เคมี ไปจนถึงอุตสาหกรรมเบาอย่างผู้ให้บริการทางการเงิน แพลตฟอร์มการบริการจัดส่งพัสดุ สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 กรุงศรียังคงสานต่อเป้าหมายในการเป็นธนาคารพันธมิตรที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับลูกค้าธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ โดยมีมุมมองสำคัญในการดำเนินงาน 4 ด้านประกอบไปด้วย
- เร่งส่งเสริมระบบนิเวศด้านความยั่งยืน (ESG Ecosystem) ให้กับสังคมไทย โดยอาศัยจุดแข็งในการมีความรู้ ความชำนาญในด้าน ESG ผ่านความร่วมมือกับ MUFG เพื่อนำเสนอโซลูชันทางการเงินเพื่อความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยเมื่อช่วงต้นปี ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Deposit) บัญชีเงินฝากประจำเพื่อใช้สนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน ร่วมขับเคลื่อนโครงการด้านความยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าและคาดว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีในปีนี้ เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์เรื่อง ESG ให้กับลูกค้า ทั้งยังเดินหน้าสร้างเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมให้การสนับสนุนองค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่มีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
- ต่อยอดความร่วมมือเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) โดยจะขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับ สปป. ลาว และเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่เอื้อต่อสังคม ชุมชน ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน โดยในปีนี้จะมีการจัดงาน Japan-ASEAN Startup Business Matching อย่างต่อเนื่องหลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากในปีก่อน เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ตลาดระดับสากล ดึงดูดนักลงทุน สร้างตำแหน่งงาน พร้อมช่วยกระตุ้นให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ขยายฐานลูกค้าบรรษัทข้ามชาติจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asian Economies) ด้วยพื้นฐานและปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในประเทศไทย ทั้งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลี กรุงศรีจะใช้โอกาสนี้ทำงานร่วมกับ MUFG ในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจจากกลุ่มประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนและขยายการเติบโตของธุรกิจในประเทศไทย
- ยกระดับบริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจ Krungsri ASEAN LINK เชื่อมทุกความต้องการทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยกรุงศรีพร้อมใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสานพลังเครือข่ายธุรกิจของธนาคาร และ MUFG ที่ครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศในอาเซียน อาทิ Danamon Bank ในอินโดนีเซีย VietinBank ในเวียดนาม และ Security Bank ในฟิลิปปินส์ เพื่อต่อยอดบริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจสำหรับลูกค้าที่ต้องการขยายธุรกิจสู่อาเซียน ตั้งแต่ในขั้นตอนเริ่มแรก เช่น การสำรวจแปลงที่ดิน การรวบรวมข้อมูลและกฎระเบียบ จนถึงการจัดตั้งและดำเนินการทางธุรกิจในต่างประเทศ โดยในปีนี้ กรุงศรีมีแผนในการจัดงานสัมมนา และกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจครั้งยิ่งใหญ่ร่วมกับธนาคารพันธมิตรเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าและผู้ที่สนใจจะขยายธุรกิจในอาเซียน
"เราเชื่อมั่นว่าด้วยความสามารถอันโดดเด่นและความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีจากการประสานพลังเครือข่ายของกรุงศรี ธนาคารพันธมิตร และ MUFG จะช่วยให้ลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติสามารถคว้าโอกาสและขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีแห่งความยั่งยืน และสำคัญที่สุดคือช่วยผลักดันให้เกิดความยั่งยืนทางศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศต่อไป" นายโอคุโบะ กล่าวทิ้งท้าย