นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ(ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการซ่อมรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง หลังเกิดเหตุรางนำไฟฟ้า (conductor rail) หล่นบนคานทางวิ่งและมีอะไหล่ตัวยึดรางหล่นลงบนพื้นด้านล่างระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) ถึงสถานีศรีอุดม (YL16) ฝั่งมุ่งหน้าสถานีสำโรง (YL23) นั้น ทางบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานคาดว่าจะดำเนินการซ่อมแซมแล้วเสร็จปลายเดือนพ.ค. 2567และจะสามารถกลับมาให้บริการเดินรถได้ตามตารางปกติ
ปัจจุบันการเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง แบ่งออกเป็น 3 ช่วงโดยกลางทางที่เกิดปัญหารางนำไฟฟ้าหล่นออกมานั้นเดินรถได้ฝั่งเดียวทำให้มีความถี่น้อยผู้โดยสารต้องรอรถนานกว่าปกติ ซึ่งทาง EBM ปรับลดค่าโดยสารเป็นการชดเชยในภาพรวมทำให้ผู้โดยสารสายสีเหลืองลดลงไปประมาณเกือบ 20% จากปกติกว่า 40,000 คน-เที่ยว/วัน หรือมีเฉลี่ยประมาณ 30,000 คน-เที่ยว/วัน โดยช่วงที่มีผู้โดยสารหนาแน่นคือฝั่งลาดพร้าวและฝั่งเทพารักษ์ซึ่งการเดินรถได้ 2 ทางวิ่งตามปกติโดยที่จะได้รับผลกระทบมากคือผู้โดยสารที่เดินทางข้ามจากฝั่งลาดพร้าวมาเทพารักษ์ซึ่งสถิติมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางข้ามผ่านรอยต่อช่วงที่เกิดปัญหาประมาณกว่า 10%
ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รฟม.ได้หารือกับ EBM เพื่อประเมินเหตุการณ์ทั้งหมดเพื่อสรุปว่า จะต้องปรับปรุงและเพิ่มเติมมาตรการใดอีกบ้างโดยเฉพาะแผนรองรับกรณีเกิดเหตุขึ้นการช่วยเหลืออพยพผู้โดยสารต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและปลอดภัย,แผนการแก้ไขจุดที่เกิดปัญหาเพื่อให้ระบบกลับมาให้บริการตามปกติอย่างรวดเร็วตามมาตรฐาน เป็นต้น
นอกจากนี้ประเด็นอะไหล่ที่เกิดความเสียหายนั้นที่ผ่านมาบริษัทจะมีแผนสต๊อกอะไหล่ที่ต้องมีการซ่อมบำรุงตามวงรอบการใช้งานอยู่แล้วแต่เหตุการณ์ครั้งนี้อะไหล่และอุปกรณ์ที่เสียหายไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ในแผนสต๊อกปกติหรือมีจำนวนการใช้ที่มากกว่าสต็อกที่มีดังนั้นถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องมาหารือกันว่ายังสามารถบริหารจัดการได้หรือไม่หรือต้องเพิ่มสต๊อกรองรับหรือไม่เพราะเหตุที่เกิดกับสายสีเหลืองเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดกับประเทศอื่นที่ใช้ระบบโมโนเรลก็คงต้องประเมินกันเรื่องความเสี่ยงและแผนรองรับ