บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/67 บริษัทมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ที่ 27,769 ล้านบาท ขยายตัว 23% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 16% จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการเติบโตของรายได้ที่เน้นสร้างผลกำไร และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้นการรวมผลประกอบการของบมจ.ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ (TTTBB) ยังส่งผลดีต่อการเร่งตัวขึ้นของ EBITDA ตั้งแต่วันแรกที่ซื้อกิจการ เมื่อรวมกับอัตรากำไรจากการขายอุปกรณ์ที่ดีขึ้น ทำให้ EBITDA Margin เติบโตจาก 47% ในไตรมาส 4/66 เป็น 52% ในไตรมาส 1/67
เอไอเอสมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,451 ล้านบาท เติบโตขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนและโต 21% จากไตรมาสก่อน สอดคล้องกับผลดำเนินงานที่ดีขึ้น แม้จะมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นและรับรู้รายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
ในไตรมาส 1/67 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐและจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามความท้าทายเชิงโครงสร้างและความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยสรุปเอไอเอสมีรายได้จากการให้บริการหลักที่ 39,437 ล้านบาท เติบโต 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 6.4% จากไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในทุกบริการหลัก โดยเฉพาะบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มุ่งเน้นการเติบโตด้วยการสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน ประกอบกับรับรู้รายได้จากการควบรวม TTTBB เข้ามาเต็มไตรมาส
รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ 30,339 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ เติบโต 0.9% จากไตรมาสก่อนสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการรัฐและการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เอไอเอสมุ่งเน้นการเติบโตของลูกค้าใหม่ที่มีคุณภาพ การนำเสนอแพ็กเกจสร้างมูลค่าเพิ่มที่เหมาะสมต่อผู้ใช้งานในแต่ละกลุ่มตามช่องทางและเวลาที่เหมาะสมผ่านกลยุทธ์ส่งเสริมการขาย (Cross-sell & Upsell) ประกอบกับการปรับโครงสร้างแพ็กเกจที่เพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน(ARPU) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดย ณ ไตรมาส 1/2567 มีจำนวนผู้ใช้งาน 5G เติบโตขึ้นใกล้เคียง 9.9 ล้านราย ขณะที่ฐานผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสิ้น 45 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นสุทธิ 408,000 เลขหมาย ARPU เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 224 บาท/เลขหมาย/เดือน เพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อนและเพิ่มขึ้น 0.2% จากไตรมาสก่อน
ส่วนรายได้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ที่ 7,118 ล้านบาท เติบโตอย่างแข็งแกร่ง 163% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเติบโต 41% จากไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้ของ TTTBB เต็มไตรมาส ร่วมกับการเติบโตฐานผู้ใช้บริการรายใหม่ด้วย แพ็กเกจที่มุ่งเน้นคุณค่า ซึ่งได้รับประโยชน์จากความครอบคลุมโครงข่ายที่เพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัว คุณภาพการให้บริการที่ดี ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นด้วยนวัตกรรมใหม่และแพ็กเกจพ่วงบริการด้านคอนเทนต์ที่ครอบคลุม
AIS 3BB Fibre3 ขยายฐานผู้ใช้บริการสู่ 4.8 ล้านราย (ลูกค้า TTTBB 2.3 ล้านราย) ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 โดยมีลูกค้าเพิ่มขึ้น 72,000 ราย เป็นผลมาจากการ ขยายโครงข่ายพื้นที่การให้บริการและความต้องการของลูกค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ในด้าน ARPU เพิ่มขึ้นเป็น 496 บาท/เลขหมาย/เดือน เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 1.3% จากไตรมาสก่อน จากการนำเสนอแพ็กเกจและผลิตภัณฑ์ที่เน้นมูลค่าที่สูงขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม
สำหรับรายได้บริการลูกค้าองค์กร (ไม่รวมโทรศัพท์เคลื่อนที่) อยู่ที่ 1,602 ล้านบาท เติบโต 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้รายได้ของ TTTBB และความต้องการในบริการเชื่อมต่อที่ยังคงเติบโตสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจใน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน รายได้คงที่จากจากการรับรู้รายได้ TTTBB เข้ามาเต็มไตรมาส ชดเชยกับการลดลงของยอดขายเนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นในไตรมาส 4/2566