นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สนับสนุนแนวคิดของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในการนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมา โดย FETCO มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นความคึกคักในตลาดทุนไทยและดึงดูดผู้ลงทุนให้กลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้มากขึ้นในจังหวะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันปรับลดลงมาค่อนข้างมาก ถือว่าอยู่ในระดับที่ถูกแล้ว
ทั้งนี้ FETCO เตรียมขอเข้าพบและหารือกับ รมว.คลังโดยเร็ว โดยเพาะประเด็นการนำกองทุน LTF กลับมา เพราะยังต้องพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุดในเงื่อนไขของกองทุนลดหย่อนภาษีให้เป็นที่สนใจของผู้ลงทุน เช่น อาจปรับเงื่อนไขลดระยะเวลาลงทุนของกองทุน SSF ให้สั้นลงจาก 10 ปี มาเหลือใกล้เคียงกับกองทุน LTF ในอดีตที่มีระยะเวลา 5 ปี หรืออีกกรณีหนึ่งอาจยกเลิกกองทุน SSF ไปเลย แล้วนำกองทุน LTF กลับมาใช้แทน เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์กับพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนรุ่นใหม่และนักลงทุนในปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีการหารือกับกระทรวงการคลังในส่วนของเงื่อนไข และความเป็นได้ของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ขณะเดียวกัน ยังจะเสนอให้ปรับเงื่อนไขระยะเวลาลงทุนของกองทุน Thai-ESG ให้สั้นลงจาก 8 ปี เหลือราว 5 ปี เพื่อดึงดูดให้ผู้ลงทุนเกิดความสนใจในการลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม จากที่ในช่วงปลายปี 66 กองทุน Thai-ESG มีระยะเวลาในการเสนอขายเพียง 3 สัปดาห์ มีผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนดังกล่าวเพียงแสนกว่ารายเท่านั้น ซึ่งทาง FETCO อยากขอให้ปรับเงื่อนไขของกองทุน Thai-ESG ให้น่าสนใจกับผู้ลงทุนมากขึ้น
พร้อมกับจะมีการผสานความร่วมมือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (สมาคมบลจ.) ในการพัฒนากองทุนใหม่ที่เน้นเป็นการลงทุนเพื่อการออมเพื่อการศึกษา แต่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งทาง FETCO มองเห็นประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นการสร้างวินัยทางการเงินและการวางแผนทางการเงินของพ่อแม่ เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับลูก ซึ่งจะทีการนำเสนอเพื่อหารือกับรัฮมนตรีกระทรวงการคลังในการพิจารณาความเป็นไปได้ในการผลักดันด้วยเช่นกัน
"ถือว่าเป็นข่าวดีที่ท่านรัฐมนตรีคลังมีแนวคิดจะนำกองทุน LTF กลับมา ซึ่งที่ผ่านมากองทุน LTF ก็เป็นกองทุนที่ฮิตที่สุด และทำให้ตลาดทุนไทย บลจ.ต่างๆ เติบโตขึ้นมา มีความคึกคักมากขึ้น รวมถึงมีผู้ลงทุนเข้ามาในตลาดทุนไทยมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญผมว่าจะต้องอยู่ที่เงื่อนไขของกองทุนว่าจะออกมาอย่างไร ทางกระทรวงการคลังมี room มากน้อยแค่ไหน แต่ละกองทุนที่มีอยู่แตกต่างกันที่เงื่อนไข ซึ่งต้องหารือร่วมกันในการปรับเงื่อนไขให้ตอบโจทย์ผู้ลงทุนรุ่นใหม่มากที่สุด
โดยปกติเมื่อมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่รับตำแหน่งเข้ามาทาง FETCO ก็จะมีการทำเรื่องขอเข้าพบไปพูดคุยหารือ ซึ่งเตรียมที่จะทำเรื่องขอเข้าพบเพื่อหารือโดยเร็วที่สุด แต่เรียนตามตรงว่าประเด็นนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งด่วนที่ท่านรัฐมนตรีจะต้องรีบทำมาก เพราะตลาดหุ้นไทยถือว่ายังอยู่ในภาวะที่ปกติ แม้ว่าจะไม่ค่อยคึกคักบางช่วง และวอลุ่มก็หายไปบ้างก็ตาม แต่ทางกระทรวงการคลังเองยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องทำ และเป็น Piority ต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่อีกเยอะมาก" นายกอบศักดิ์ กล่าว
ประธาน FETCO ยังให้มุมมองถึงภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 67 ว่า มีโอกาสที่จะเห็นดัชนี SET ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะทยอยออกมา อีกทั้งยังมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณออกมามากขึ้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่กลับเข้าสู่ไฮซีซั่นอีกครั้ง คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะอยู่ที่ 36 ล้านคนได้ หลังจาก 4 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากถึง 12 ล้านคนแล้ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น
และยังมีปัจจัยหนุนจากการที่จะเริ่มเห็นธนาคารกลางของประเทศต่างๆเริ่มลดดอกเบี้ยพร้อมกันในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางออสเตรเลีย เป็นต้น จากที่ประเทศเหล่านี้กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ยกเว้นสหรัฐที่อาจจะลดดอกเบี้ยช้ากว่าธนาคารกลางอื่นๆ เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และเงินเฟ้อยังสูง
หากประเทศใหญ่หลายประเทศเริ่มลดดอกเบี้ยก็จะเริ่มเป็นบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้น จะมีเม็ดเงินลงทุนเริ่มไหลเข้ามาในตลาดหุ้นมากขึ้น หลังจากที่ไหลออกไปหาสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตลาดหุ้นในอาเซียนถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะได้อานิสงส์จากเม็ดเงินทุนที่ไหลกลับเข้ามาด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม FETCO ได้มีการปรับลดประมาณการณ์ดัชนี SET สิ้นปี 67 ลดลงเหลือ 1,535 จุด จากเดิมที่คาดไว้ที่ 1,590 จุด หลังจากที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาด ทำให้ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และทำให้ภาคการเงินเกิดความผันผวน และมองว่าสิ้นไตรมาส 2/67 ดัชนี SET จะอยู่ที่ 1,447 จุด
พร้อมมองตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 67 จะเติบโตได้เกือบ 3% แต่ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายการเงินของไทยยังต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หลังจากที่คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ต่อปีไว้สักระยะหนึ่งแล้ว และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีการปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาเช่นเดียวกับหน่วยงานราชการอื่นที่ปรับลงมาที่ 2.75% และเงินเฟ้อก็ต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้แล้ว
"การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.เงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา เพราะต่ำกว่าคาดแล้ว ทำให้มีช่องในการลดดอกเบี้ยได้บ้าง แต่ยังอาจจะยังดูจังหวะที่เหมาะสม อยู่ที่การตัดสินใจของธปท. เพราะหากมองถึงเรื่องที่เป็นประเด็นกันอยู่เกี่ยวกับความเป็นอิสระของธปท.นั้นก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีหน้าที่ในการบริหารจัดการเรื่องที่รับผิดชอบ แต่ก็อาจจะต้องมีการเข้ามาร่วมพูดคุยในการทำงานกัน ซึ่งเห็นว่าท่านรัฐมนตรีกระทรวงการคลังก็จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ที่จะพูดคุยทำความเข้าใจและร่วมกันทำงาน" นายกอบศักดิ์ กล่าว