CryptoShot: ดราม่าอีกแล้ว !! Binance TH เตรียมเปิดเทรดเหรียญมีม ขณะที่เจ้าอื่นโดนสั่งห้าม

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 9, 2024 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดราม่าต่อเนื่อง!! เมื่อ Binance TH ประกาศลิสต์เหรียญมีมสร้างความสงสัยและข้อข้องใจ ไหน ก.ล.ต. บอกว่าห้าม? งานนี้อ่านให้ชัด เพราะ ก.ล.ต. ไขข้อข้องใจ ไม่ต้องไปคิดกันเอง ใบอนุญาตไหนลิสต์เหรียญได้หรือลิสต์เหรียญไม่ได้!! ต่อด้วยผู้ประสบภัยจาก FTX งานนี้มีโอกาสได้เงินคืนแล้ว แถมได้ค่าเสียเวลาเพิ่มด้วย!!

*ดราม่าบังเกิดเมื่อ Binance TH จ่อเปิดเทรดเหรียญมีมฉ่ำ! แต่เจ้าอื่นโดนห้าม เพราะอะไร??

ดราม่ากันอีกแล้วเมื่อเพจ Influencer เห็นว่า Binance TH มีการลิสต์เหรียญมีม (Meme Token) เป็นที่มาของคำถามมากมายว่าทำไมก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เคยประกาศห้าม Exchange ลิสต์เหรียญมีมบนกระดานไม่ใช่หรือ?? ทำไมครั้งนี้ Binance ถึงลิสต์ได้??

งานนี้ ก.ล.ต. ทำงานรวดเร็วด้วยการออกข่าวแถลงอย่างชัดเจนในวันอังคารที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมาว่าทาง ก.ล.ต. ไม่อนุญาตให้ Exchange ลิสต์เหรียญมีม เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของศูนย์ซื้อขายฯ และคุ้มครองผู้ซื้อขายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรม รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงในการสร้างราคา เนื่องจาก Meme Token ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ แต่ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคล

แต่สำนักงาน ก.ล.ต.ไม่ได้ห้ามนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผู้ถือใบอนุญาต Digital Asset Broker ในการให้บริการ Meme Token แก่ลูกค้า โดยนายหน้าฯ จะต้องทำหน้าที่เป็น "ผู้ให้บริการนายหน้า" หรือ "ตัวแทนเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับลูกค้า" โดยจะต้องดำเนินการให้ลูกค้าได้รับเงื่อนไขที่ดีที่สุด (Best Execution) จากหลากหลายศูนย์ซื้อขายฯ (Sourced Exchange) ที่นายหน้าฯ ไปเชื่อมต่อ

ทาง ก.ล.ต. ย้ำว่า หากผู้ประกอบธุรกิจได้รับใบอนุญาต ทั้งศูนย์ซื้อขายฯ และนายหน้าฯ และจะให้บริการ Meme Token การส่งคำสั่งไปยัง Sourced exchange จะต้องส่งคำสั่งในฐานะนายหน้าฯ เท่านั้น โดยไม่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นการให้บริการในฐานะศูนย์ซื้อขายฯ รวมทั้งกำชับให้บุคคลที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อผู้ใช้บริการ (Influencer) และพันธมิตรทางการค้าที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามหลักการข้างต้นด้วย

แล้วเผอิญว่าทาง Binance TH ได้ถือใบอนุญาตของศูนย์ซื้อขายฯและนายหน้าฯ ในขณะที่ BITKUB ถือใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายฯ เพียงอย่างเดียว งานนี้เหล่า Influencer หลายรายต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายทั้ง 2 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น "BITKAO", "เพจคริปโทไม่มีวันตาย", "ลุงชูเต่านั่งรถบางคัน" หรือแม้แต่ "พลอยขอเล่า" บ้างก็เห็นใจ BITKUB บ้างก็คิดว่าถูกต้องแล้ว

แล้วทุกคนคิดว่ายังไงกันบ้าง ค่ายเขียว vs ค่ายเหลือง ใครจะได้เป็นเจ้าตลาด งานนี้ต้องดูกันยาว ๆ

*FTT Token comeback พุ่งกว่า 30% หลัง FTX เผยแผนชำระเงินเจ้าหนี้เต็มจำนวน พร้อมแถมค่าเสียเวลา

ผู้ประสบภัย FTX มากองตรงนี้ เมื่อล่าสุดทาง FTX ประกาศพร้อมเข้าแผนฟื้นฟูที่ 11 (Chapter 11) พร้อมคืนเงินผู้เสียกายกว่า 98% แถมค่าเสียเวลาให้ด้วย ซึ่งตรงนี้แตกต่างจากแผนเดิมที่จะชดใช้เงินให้เจ้าหนี้ตามมูลค่าของสินทรัพย์ ณ ตอนที่บริษัทยื่นล้มละลายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 สาเหตุอาจเป็นเพราะตลาดคริปโทฯ ปรับตัวเป็นขาขึ้นหลังจากราคา Bitcoin พุ่งขึ้นไปกว่า 200%

ทั้งนี้ FTX ได้ประเมินมูลค่ารวมของทรัพย์สินที่บริษัทมีอยู่ เมื่อแปลงเป็นเงินสด ซึ่งจะอยู่ระหว่าง 14,500-16,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพียงพอสำหรับการชดใช้หนี้ โดยแผนดังกล่าวระบุว่า เฉพาะเจ้าหนี้ที่ถือสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์เท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับเงินคืน 118% และหากได้รับการอนุมัติจากศาล การชำระเงินคืนจะเกิดขึ้นภายใน 60 วันหลังจากวันที่แผนมีผลบังคับใช้

และด้วยสาเหตุนี้เองที่ทำให้ราคาเหรียญ FTT หรือ FTX Token พุ่งขึ้นกว่า 25% ในวันที่ 8 พฤษภาคมในระยะเวลาเพียงแค่วันเดียว

*Bitcoin ETF ของ Grayscale ยอดซื้อเป็นบวกครั้งแรก หลังมีแต่คนแห่ขายทุกวันรวมกว่า 630,000 ลบ.

ในที่สุดก็เริ่มมีข่าวดีสำหรับ Grayscale ที่ก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่ากองทุน Bitcoin SPOT ETF ของ Grayscale นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2024 มีเงินไหลออกตลอดกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์ เหมือนเลือดที่ไหลซิบ ๆ แต่แล้วเลือดก็หยุดไหล โดยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม กองทุน GBTC ก็มีการไหลเข้าเป็นครั้งแรก

Eris Balchunas ผู้เชี่ยวชาญด้าน ETF ถึงกับอุทานแบบไม่เชื่อสายตาตัวเอง แถมเขาไปเช็คข้อมูลเอง แล้วก็พบว่าเป็นเรื่องจริงด้วย

หากวิเคราะห์ดูแล้ว อะไรเป็นสาเหตุที่ก่อนหน้านี้กองทุน Bitcoin Spot ETF ของ Grayscale ถึงมีแรงขายออกอย่างต่อเนื่อง สาเหตุอาจเกิดจากนักลงทุนย้ายไปลงทุนในกอง Bitcoin ETF อื่น ๆ เนื่องจากการเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป โดย Grayscale ได้เก็บค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1.5% ในขณะที่กองทุนอื่น ๆ มีค่าธรรมเนียมการจัดการรายปีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.25%

https://youtu.be/G0aOa9xVtlg


แท็ก ข้องใจ   ก.ล.ต.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ