นายเมโธ เปี่ยมทิพย์มนัส รักษาการ หัวหน้าสายงานการเงินและบัญชี, ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานการเงิน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/67 จะยังเติบโตได้ต่อเนื่องตามการดำเนินงาน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวเล็กน้อย หลังหมดมาตรการ Easy E-Receipt
อย่างไรก็ตามในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯ จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อน AIS ให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยยึดแนวทางการดำเนินงานแบบเดียวกับช่วงที่ผ่านมา หรือยึดการจัดการด้านคุณภาพต่างๆ และเพิ่มการใช้ของลูกค้า เพื่อเพิ่มรายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้า (ARPU), ขยายจำนวน Subscriber หรือผู้ใช้บริการ และเน้นการจัดการด้านการควบรวบกิจการ บมจ. ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ (TTTBB) ให้เข้ากับ AIS ให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านการปรับปรุงโครงข่ายไม่ให้ซ้ำซ้อน การปรับปรุงช่องทางการจำหน่าย รวมถึงระบบ IT เพื่อรวมกันเป็นระบบเดียว เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้บริษัทฯ ยังมองหาโอกาสในการในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นธุรกิจที่อยู่ใน AIS Ecosystem แต่ไม่ใช่บริษัทสตาร์ทอัพ หรือเริ่มจากศูนย์ ซึ่งจะเน้นบริษัทมีรายได้แล้ว เพื่อร่นระยะเวลาการรับรู้ผลตอบแทนจากการลงทุน อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังไม่มีโครงการที่ใกล้ปิดดีลในเร็วๆ นี้
สำหรับแหล่งเงินลงทุน บริษัทฯ ถือหุ้นสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ITV อยู่ 52% ซึ่ง ITV มีมติลดทุนและจะคืนเงินลงทุนให้ผู้ถือหุ้น ส่งผลให้บริษัทฯ จะได้รับเงินลดทุนส่วนนี้คืนประมาณ 660 ล้านบาท คาดเงินจำนวนดังกล่าวจะได้รับในช่วงสิ้นเดือนพ.ค.นี้ และจะทำให้บริษัทฯ มีเงินสดที่สามารถพร้อมลงทุนได้ทันที่อยู่เกือบ 2,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการนำไปลงทุนในโครงการใดๆ
ขณะที่ธุรกิจ VC บริษัทฯ ไม่มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเดิม แต่ยังหาจังหวะในการทำกำไรจากธุรกิจ VC ที่มีอยู่ เพื่อหาโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทน โดยปัจจุบันมีธุรกิจ VC ในมือ จำนวน 6 บริษัท อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ว่าจะสามารถขายธุรกิจ VC ออกไปในปีนี้ได้กี่บริษัท เนื่องจากมองว่าปีนี้ไม่ใช่ปีทองของธุรกิจดังกล่าว แต่ก็มีการติดต่อเจรจากับผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง
นายเมโธ กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้เติบโต 13-15% แม้ในไตรมาสแรกจะเติบโตมากกว่า 15% เนื่องด้วยมองว่ายังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งก็หวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะได้แรงกระตุ้นการบริโภค จากงบประมาณภาครัฐ และเงินดิจิทัลวอลเล็ต