บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) รายงานกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(ปรับปรุง) หรือ Adjusted EBITDA เท่ากับ 366 ล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เพิ่มขึ้น 32% ที่มีอยู่ 277 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (Q4/66) และลดลง 2% ที่มี 372 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบปีต่อปี (Q1/66)
ทั้งนี้ ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส เนื่องจากการระบายสต๊อกสินค้าของลูกค้าที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ที่ทำให้อุปสงค์ลดลงตลอดปี 2566 แสดงสัญญาณของการค่อยๆ ฟื้นตัวในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งชดเชยผลกระทบบางส่วนที่เกิดจากฤดูหนาวที่หนาวจัดในสหรัฐอเมริกา ผลการดำเนินงานได้รับการสนับสนุนจากต้นทุนด้านสาธารณูปโภคที่ลดลงในยุโรป การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทะเลแดง ซึ่งทำให้ราคาสินค้านำเข้าในตลาดแพงขึ้น เอื้อประโยชน์ต่ออัตรากำไรของบริษัทฯ ตลอดจนองค์ประกอบทางเศรษฐกิจที่ดีของ shale gas ซึ่งช่วยเสริมความสามารถในการทำกำไรในสหรัฐอเมริกา
อินโดรามา เวนเจอร์ส คาดว่าการฟื้นตัวของปริมาณขายจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2567 ถึงแม้ว่าการระบายสต๊อกสินค้าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปถึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ และฤดูร้อนของฝั่งตะวันตกที่กำลังมาเยือนจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ทั่วโลกยังคงมีความท้าทาย เนื่องจากการสร้างกำลังการผลิตส่วนเกิน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวและอัตราดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่ออัตรากำไรของอุตสาหกรรม และยังคงบั่นทอนความสามารถในการทำกำไรของห่วงโซ่คุณค่าโพลีเอสเตอร์ กลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) อย่าง Indovinya ของเรากำลังดำเนินด้วยดีเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 หลังจากที่การระบายสต็อกสินค้าผ่อนคลายลงและคาดว่าจะมีสถานการณ์ที่ดีในปี 2567
ฝ่ายบริหารที่มีประสบการณ์ของบริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญอย่างมากกับการจัดการต้นทุน การเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน และการรักษาสภาพคล่องสูง ทั้งนี้ ฐานการผลิตทั่วโลกของอินโดรามา เวนเจอร์ส ที่เป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญในสภาพแวดล้อมที่มีอัตรากำไรไม่มาก จะช่วยให้ธุรกิจของบริษัทฯ สามารถรักษาข้อได้เปรียบทางการตลาดที่แข็งแกร่ง ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการป้องกันอุปสรรคทั้งทางการค้าและไม่ใช่ทางการค้า
ในไตรมาสที่ 1 บริษัทฯ มีความคืบหน้าจากการดำเนินกลยุทธ์ IVL 2.0 ที่กำหนดไว้สำหรับระยะเวลา 3 ปี เพื่อยกระดับตำแหน่งผู้นำระดับโลก และสร้างยุคใหม่ของโอกาส ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญในตลาดเคมีภัณฑ์ ภายใต้กลยุทธ์ใหม่ที่บริษัทฯ ได้ประกาศในงาน Capital Markets Day ประจำปีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อินโดรามา เวนเจอร์ส กำลังเพิ่มประสิทธิภาพสินทรัพย์ ลดภาระหนี้สิน และให้ความสำคัญกับการสร้างกระแสเงินสดอิสระ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ถือหุ้น ปัจจุบัน รายได้ร้อยละ 70 ของบริษัทฯ ใช้ระบบ SAP S/4HANA สำหรับการจัดการทรัพยากรทั่วทั้งองค์กร และใช้โครงการพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดซื้อจัดจ้างระบบดิจิทัล (digital procurement) ความเป็นเลิศทางการขาย (sales excellence) และการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานทั่วทั้งธุรกิจ โดยเชื่อว่าเครื่องมือ AI เหล่านี้จะช่วยพัฒนาประสิทธิผลและและต้นทุนให้ดีขึ้น อีกทั้งสร้างเงินทุนหมุนเวียนสอดคล้องกับกลยุทธ์ใหม่
"ไตรมาสแรกของปี 2567 นับเป็นยุคใหม่ของอินโดรามา เวนเจอร์ส เนื่องจากเราเล็งเห็นอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย และเริ่มดำเนินการตามกลยุทธ์ IVL 2.0 ของเราด้วยความแข็งแกร่งที่ได้รับการกระตุ้นขึ้นมาใหม่จากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกลยุทธ์ทางธุรกิจของเรา หลังจากการไตร่ตรองมาอย่างดีในปี 2566 เราได้รับแรงหนุนที่ดีจากการระบายสต๊อกสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในไตรมาสที่ 1 แต่เราไม่ได้มองข้ามความท้าทายที่ยังคงเกิดขึ้นอุตสาหกรรม เรายังคงมุ่งเน้นการจัดการต้นทุนและการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เราดำเนินการขั้นต้นในการนำกลยุทธ์ใหม่ของเราไปปรับใช้ ผมหวังว่าการมองโลกในแง่ดีด้วยความระมัดระวังของเราจะค่อยๆ เห็นผลลัพธ์ที่ดีตลอดปี 2567 ด้วยเราได้เห็นปริมาณการซื้อขายฟื้นตัวขึ้น"นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทฯ IVL กล่าว
ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ IVL 2.0 บริษัทฯ นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพโรงงาน 7 แห่ง และการประเมินผลการดำเนินงานของโรงงาน PTA/PET ในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว เรายังมีความก้าวหน้าที่สำคัญในแผนรีไฟแนนซ์หนี้สินจำนวน 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในครึ่งแรกของปี 2567 เพื่อให้มั่นใจว่ามีสภาพคล่องเพียงพอ ทั้งนี้ การระดมทุนเมื่อเร็วๆ นี้ อาทิ Ninja loan มูลค่า 255 ล้านเหรียญสหรัฐ หุ้นกู้มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท Bilateral loan มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และความสำเร็จในการทำสัญญาสินเชื่อ Syndicated loan มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ โดยธุรกรรมทั้งหมดดังกล่าวได้รับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่มีส่วนต่างน้อยกว่ารายการลักษณะเดียวกันของในครั้งก่อน
เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโต อินโดรามา เวนเจอร์ส กำลังเตรียมนำกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และสารลดแรงตึงผิวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ IPO (Initial Public Offering) และตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2567 เป็นต้นไป กลุ่มธุรกิจ Indovinya (เดิมชื่อ Integrated Oxides and Derivatives หรือ IOD) จะมุ่งเน้นพัฒนาการดำเนินงานสำหรับสารลดแรงตึงผิวขั้นปลายน้ำในฐานะหนึ่งกลุ่มธุรกิจหลัก ส่วนธุรกิจเคมีภัณฑ์ขั้นกลางน้ำ ซึ่งประกอบด้วยฐานการผลิตเอทิลีนแบบบูรณาการที่ตั้งต้นจาก shale gas รวมทั้ง MEG MTBE และ EO บริสุทธิ์ ได้โยกย้ายไปอยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจ Combined PET (CPET) เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะการประกอบธุรกิจ
สรุปผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2567
- ปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบปีต่อปี เท่ากับ 3.55 ล้านตัน
- Adjusted EBITDA เท่ากับ 366 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบปีต่อปี
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเท่ากับ 184 ล้านเหรียญสหรัฐ
- สัดส่วนหนี้สินจากการดำเนินงานสุทธิต่อทุนเฉลี่ยเท่ากับ 1.22 เท่า
- กำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.17 บาท
ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 กลุ่มธุรกิจ CPET (รวมถึงเคมีภัณฑ์ขั้นกลางน้ำ) รายงาน Adjusted EBITDA เท่ากับ 249 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และเพิ่มขึ้น 4% เทียบปีต่อปี เนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าขนส่งทางทะเลทั่วโลกส่งผลให้ราคาและอัตรากำไรสูง และเนื่องจากตลาดตะวันตกได้รับประโยชน์จากต้นทุนพลังงานที่ลดลง ส่วนกลุ่มธุรกิจ Indovinya รายงาน Adjusted EBITDA มีเสถียรภาพที่ 70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้รับผลกระทบจากฤดูหนาวที่หนาวจัดในสหรัฐอเมริกา และการซ่อมบำรุงเล็กน้อยที่โรงงาน PO/PG สำหรับกลุ่มธุรกิจ Fibers มี Adjusted EBITDA เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 73 เท่ากับ 39 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบปีต่อปี อันเนื่องมาจากการระบายสต็อกสินค้ากำลังลดลงสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้งสาม และส่งผลให้ปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส