AAV รับผลขาดทุน FX กว่า 2 พันลบ.ฉุดงบ Q1/67 พลิกติดลบ 409 ลบ.แม้ EBITDA โต 78%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 14, 2024 09:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/67 พลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 409.1 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 359.4 ล้านบาทในไตรมาส 1/66 ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 2,049.4 ล้านบาท โดยหากไม่รวมผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงานหลักที่ 1,640.3 ล้านบาท ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างมากจากขาดทุนจากการดำเนินงานหลัก 203.2 ล้านบาท ในไตรมาส 1/66

ในไตรมาส 1/67 บริษัทมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 3,094.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนตามการฟื้นตัวของผลการดำเนินงาน ต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 630.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากดอกเบี้ยตามหนี้สินสัญญาเช่า (TFRS 16) หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่ 127.7 ล้านบาท

บริษัทมีรายได้รวม 14,017.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนจากจากการเติบโตของรายได้จากการขายและบริการที่เพิ่มขึ้น 52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ขยายตัว 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้รายได้ต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (RASK) เพิ่มขึ้นเป็น 2.20 บาท จาก 1.86 บาทในไตรมาส 1/66 หรือเพิ่มขึ้น 18% ในขณะที่ฝูงบินที่ปฏิบัติการบินในไตรมาสนี้มีจำนวน 50 ลำ จากฝูงบินทั้งหมด 56 ลำ

รายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 13,793.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการเดินทางที่สูงในทั้งตลาดในประเทศและระหว่างประเทศ ส่งผลให้อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยเพิ่มเป็น 2,109 บาทต่อผู้โดยสาร เพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับตลาดในประเทศ ไทยแอร์เอเชีย (TAA) มีอัตราค่าโดยสารเฉลี่ย อยู่ที่ 1,603 บาท ส่วนแบ่งตลาดผู้โดยสารภายในประเทศทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 40% และอัตราขนส่งผู้โดยสารสูงถึง 96% โดยในไตรมาสนี้ ปริมาณผู้โดยสารภายในประเทศของทั้งประเทศฟื้นตัวมาที่ 80% ของช่วงไตรมาส 1 /62 ซึ่งจากฝูงบินของ TAA ที่มีมากกว่าคู่แข่งทำให้มีความได้เปรียบและสามารถให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศที่ทยอยกลับมาท่องเที่ยวได้มากกว่า

สำหรับตลาดระหว่างประเทศ อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 90% โดยมีหลายตลาดที่มีอัตราค่าโดยสารต่อหน่วย (Yield) และอัตราขนส่งที่เติบโตโดดเด่น เช่น กัมพูชา ลาว และเวียดนาม รวมทั้งจีนและมาเก๊าที่อัตราขนส่งกลับมาสูงอย่างที่เคยเป็น ส่งผลให้อัตราค่าโดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2,949 บาท เติบโต 24%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

AAV เผยว่า สายการบินไทยแอร์เอเชียมีแผนขยายฝูงบินจาก 56 ลำในปี 66 เป็น 60 ลำภายในปี 67 โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนเครื่องบินปฏิบัติการบินเป็น 57 ลำ ตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ คาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งและขยับเข้าใกล้ช่วงก่อนโควิด-19 มากขึ้น โดยสายการบินไทยแอร์เอเชียมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณที่นั่งเพื่อให้บริการสำหรับตลาดภายในประเทศอีก 10% เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดและคงสัดส่วนจำนวนผู้โดยสารในประเทศที่ 60%ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด

สำหรับตลาดระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 35 ล้านคนในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 28 ล้านคนในปี 66 โดยกว่า 70% ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากนักท่องเที่ยวจีนที่จะเพิ่มจาก 3.5 ล้านคนในปีที่แล้ว เป็น 8.2 ล้านคนในปีนี้ หนุนจากนโยบายการยกเว้นวีซ่าระหว่างประเทศไทยและจีน รวมถึงมาตรการอื่นๆ ของรัฐบาล เพื่อตอบรับกับคาดการณ์ดังกล่าว ไทยแอร์เอเชียมีแผนเพิ่มสัดส่วนผู้โดยสารในเที่ยวบินไป/กลับประเทศจีน เอเชียตะวันออกเอเชีย และเอเชียใต้เป็น 20% จำนวนผู้โดยสารทั้งหมดในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 15% ในปี 66

นอกจากการเพิ่มเที่ยวบินสู่ภูมิภาคดังกล่าว ภายในครึ่งแรกของปี 67 ไทยแอร์เอเชียมีแผนเปิดเส้นทางใหม่จากดอนเมืองไปยังเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และโอกินาวา รวมถึงเส้นทาง Fifth Freedom ไปยังโอซาก้าผ่านไทเป ส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เหลือจะมาจากภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วน 20% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด

โดยสรุป ไทยแอร์เอเชีย มีเป้าหมายขนส่งผู้โดยสาร 20-21 ล้านคนในปี 67 ด้วยอัตราขนส่งผู้โดยสารที่ใกล้เคียง 90% ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) คาดว่าจะเพิ่มเป็น 26,000 ล้านที่นั่ง-กิโลเมตร ใกล้เคียงกับ 26,940 ล้านที่นั่ง-กิโลเมตรในปี 62

ส่วนรายได้จากการขายและบริการ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20-23% จากปีก่อน หนุนด้วยอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยทั้งปีที่จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า และการมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้บริษัทสามารถกลับมาท กำไรจากการดำเนินงานหลักได้ ด้วยแนวโน้มดังกล่าว บริษัทคาดว่ากระแสเงินสดและสถานะทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ภาคการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงมีความไม่แน่นอน ในขณะที่ผลพวงของโควิด-19 ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบำรุงและซ่อมแซมอากาศยานสูงขึ้นอย่างมาก รวมถึงค่าธรรมเนียมสนามบินและบริการภาคพื้นดินในแหล่งท่องเที่ยวหลักปรับตัวอยู่ในระดับสูง จากความท้าทายด้านต้นทุนผนวกกับคาดการณ์ในภาคการท่องเที่ยว บริษัทคาดว่าอัตราค่าโดยสารทั่วโลกจะยังคงอยู่ในระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปตลอดปี 67


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ