บมจ.อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/67 บริษัทมีรายได้รวม 1,890.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 391.1 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 26.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยพลิกเป็นกำไรสุทธิ 107.6 ล้านบาท สาเหตุหลักจากธุรกิจเอทานอลที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งโดยสามารถสร้างยอดปริมาณการขายเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนธุรกิจแป้งมันสำปะหลังปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขายแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิค และอานิสงส์จากราคาขายที่เพิ่มขึ้นของแป้งมันสำปะหลัง
บริษัทประสบความสำเร็จจากการเดินตามแผนกลยุทธ์ UBEYOND ที่วางไว้อย่างเข้มข้น รัดกุม และรอบด้าน ทั้งในด้านการก้าวข้ามความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับทุกกระบวนการดำเนินงานที่เป็นเลิศ (Operational Excellence) การเดินหน้างานนวัตกรรม วิจัยและพัฒนา รวมถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน ทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/67 บริษัท มีรายได้รวมที่ 1,890.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 391.1 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 26.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และพลิกเป็นกำไรสุทธิ 107.6 ล้านบาท
บริษัทเตรียมเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งต่อเนื่องด้วยศูนย์นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง พร้อมเข้าสู่การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ตามเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนบนพื้นฐาน ESG ที่ใส่ใจเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมครบทุกมิติ
นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ UBE กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่สามารถทำกำไรในไตรมาสที่ 1/67 นับเป็นผลสำเร็จจากการเดินตามแผนกลยุทธ์ "UBEYOND" ไม่ว่าจะเป็น 1) Beyond the Challenges บนแผนการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทก้าวข้ามความท้าทาย โดยยังสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจปัจจุบัน ควบคู่กับการเดินหน้าแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ที่สำคัญ บริษัทฯ ได้นำกลยุทธ์ Operational Excellence มายกระดับกระบวนการผลิต ตั้งแต่การบริหารจัดการวัตถุดิบ การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในด้วยการควบคุมต้นทุน การควบคุมความสูญเสียจากการผลิต และการใช้กลยุทธ์ Digital Transformation 2) Beyond through Innovation ซึ่งเป็นการเดินหน้าตามแผนการขับเคลื่อนนวัตกรรม งานวิจัยและพัฒนา ทั้งจากหน่วยงานวิจัยภายในและบนความร่วมมือจากพันธมิตรภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน และ 3) Beyond Sustainability ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG เพื่อความยั่งยืนครบทุกมิติ ตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์
"แม้ต้นปี 67 จะยังมีความท้าทายทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศที่มีผลต่อปริมาณผลผลิตที่ทำให้ต้นทุนมันสำปะหลังสูง แต่ผลการดำเนินงานที่สามารถกลับมาทำกำไรได้ในไตรมาส 1/67 ถือเป็นบทพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้อย่างครอบคลุมและรอบด้าน โดยเฉพาะความมุ่งมั่นที่จะยกระดับกระบวนการดำเนินการงานจากภายในให้เป็นเลิศในทุกกระบวนการ (Operational Excellence) ทำให้เราสามารถทำผลงานออกมาได้ตามแผน และยังมีความมั่นคงทางวัตถุดิบที่สต๊อกไว้เพียงพอกับความต้องการผลิตตลอดทั้งปี
ส่วนธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง เริ่มมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าทยอยกลับมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น รวมถึงได้อานิสงส์จากราคาจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังที่สูงขี้น ประกอบกับผลผลิตมันสำปะหลังจากฤดูกาล 2567/68 ที่เริ่มเข้ามาเติมในสายการผลิต
ไฮไลท์ที่โดดเด่นจากนี้ของ UBE และบริษัทฯ ในเครือ ยังเดินหน้าตามแผนสู่ผู้นำผลิตภัณฑ์ทางอาหารและพลังงาน โดยในด้านธุรกิจ ยังโฟกัสที่เรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านอาหารและพลังงาน โดยเฉพาะธุรกิจแป้งมันสำปะหลังที่จะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นจากการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหาร เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูงตอบโจทย์ทุกความต้องการลูกค้า รับเทรนด์ความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของโลก
ส่วนธุรกิจเอทานอล ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เอทานอลเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF)
ขณะที่ด้านสังคม เรายังให้ความสำคัญตั้งแต่ภายในคือการส่งเสริมศักยภาพของพนักงานในทุกด้าน สู่ภายนอกคือการมุ่งสร้างคุณค่าร่วมให้เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มโดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของต้นน้ำผ่านโครงการ "อีสานล่าง 2 โมเดลพลัสนวัตกรรม" ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากนโยบายการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน (Zero waste) ที่บริษัทฯ ดำเนินมาอย่างยาวนาน ปีนี้ เราได้เข้าสู่กระบวนการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization: CFO) เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ เพื่อต่อยอดสู่การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) ในปีหน้า และนำไปสู่การกำหนดการบริหารจัดการและเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ต่อไป" นางสาวสุรียส กล่าว