ตลท.เปิดเงื่อนไขมาตรการ Dynamic Price band -Auto Halt ดับหุ้นร้อน คุมออเดอร์เกินจริง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 17, 2024 14:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมใช้มาตรการ Dynamic Price band ในช่วงปลายไตรมาส 2/67

*หุ้นที่จะถูกใช้มาตรการ Dynamic Price band
  • ใช้กับทุกหุ้นในตลาด SET และ mai ที่มีราคาตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป
  • แต่จะไม่ใช้กับหุ้นที่มีเหตุที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่าปกติ เช่น
  • หุ้นที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนใหม่
  • หุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์มีการขยาย ceiling & Floor ประจำวัน เช่น หุ้นที่มีข่าวการทำ Tender offer เนื่องจากเป็นการสะท้อนแล้วว่า จะมีคนเข้าซื้อหุ้นนี้ที่ราคามากกว่าราคาปัจจุบัน และหุ้นที่เปิดให้ซื้อขายชั่วคราว เป็นต้น
*เงื่อนไข Trigger ของ Dynamic Price band
  • หากมีคำสั่งซื้อหรือขายที่เข้ามาแล้วทำให้หุ้นนั้นๆ เคลื่อนที่ ราคาที่จะทำให้หุ้นเกิดการ Matching อยู่นอก Dynamic Price band ระบบซื้อขายจะหยุดการจับคู่คำสั่งนั้น
  • กำหนด Dynamic Price band ที่บวก-ลบ 10% จากราคาซื้อขายล่าสุด
*ลักษณะการทำงาน
  • ระบบจะยกเลิกเฉพาะคำสั่งที่เป็น aggressive order คือคำสั่งที่ทำให้เกิด Trigger
  • เมื่อมี Trigger แล้ว จะเข้าสู่ระบบ Dynamic Price band ช่วงของ Pre-open 2 นาที ซึ่งในช่วงนี้ผู้ลงทุนสามารถส่งแก้ไข, ยกเลิก Order ได้ แต่จะไม่มีการ Match คำสั่ง
  • จะไม่มีการหยุดการซื้อขายหุ้นอื่น จะหยุดเฉพาะหุ้นที่เกิด Dynamic Price band
*ช่วงเวลาที่ใช้ Dynamic Price band
  • จะใช้ทุกช่วงเวลาซื้อขาย ยกเว้นช่วง Pre-open และ Pre-Close

"จะเห็นว่า Dynamic Price band จะ Move ตามราคาตลาดแต่ละช่วงไปเรื่อยๆ อยู่ที่ บวก-ลบ 10% และหากมี aggressive order เข้ามา แล้วอาจมีการจับคู่ซื้อขายที่เกิดขึ้นนอก band สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ระบบจะยกเลิกคำสั่งซื้อขายนั้น เฉพาะส่วนที่เกิดการจับคู่ซื้อขายนอก band และจะเข้าสู่ช่วงของ Pre-open ประมาณ 2 นาที ซึ่งในช่วงนี้จะไม่มี Dynamic Price band และสามารถที่จะส่งคำสั่งแก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งที่ส่งไปแล้วได้

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เคยมีระบบ Dynamic Price band มาก่อน พอมีการส่งคำสั่งซื้อขายทีเดียว จึงทำให้เกิด ceiling & Floor แต่เมื่อมีมาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดการขายไปทีละนิดๆ ทั้งนี้ระบบไม่ได้ป้องกันราคาไปถึง 30% หรือ ceiling & Floor แต่การที่จะ ceiling & Floor จะเป็นลักษณะ Soft Landing & Soft take off หรือทำให้การปั่นหุ้นขึ้นหรือลง มันยากขึ้น" นายรองรักษ์ กล่าว

*คาดเริ่มใช้มาตรการ Auto Halt Q4/67

ส่วนความคืบหน้าของมาตรการ Auto Halt รายหุ้น ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการดำเนินการ เนื่องจากเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบ คาดว่าจะเริ่มใช้ในไตรมาส 4/67

*หุ้นที่จะถูก Auto Halt
  • หุ้นทุกตัวที่อยู่ใน SET และ mai
  • แต่จะไม่ใช้กับหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงเป็นปกติ เช่น หุ้นจดทะเบียนใหม่ หรือหุ้นที่เปิดให้ซื้อขายชั่วคราว เป็นต้น
*เงื่อนไขการใช้ Trigger
  • เมื่อจำนวนรวมของหุ้นในฝั่งซื้อหรือฝั่งขาย ของหุ้นใดมากกว่า 15% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนจะ Trigger Auto Halt หยุดพักการซื้อขายเฉพาะหุ้นนั้น เป็นระยะเวลา 60 นาที
  • จะไม่มีการ Auto Halt เกินกว่า 1 ครั้ง/วัน
*ลักษณะการทำงาน
  • จะหยุดการซื้อขายเฉพาะหุ้นนั้นเป็นเวลา 60 นาที
  • ระบบจะไม่มีการยกเลิก Order หรือเมื่อเกิด Auto Halt จะให้เป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์ในการไปติดต่อลูกค้า เพื่อสอบถามลุกค้าว่าจะยกเลิกหรือไม่ ซึ่งในช่วงที่เกิด Auto Halt ผู้ลงทุนสามารถแก้ไข, ยกเลิก Order ได้ แต่จะไม่สามารถส่ง Order ใหม่ได้
  • กรณี Auto Halt แล้วเหลือช่วงเวลาทำการซื้อขายน้อยกว่า 60 นาที จะหยุดการซื้อขายตามเวลาที่เหลือใน Session นั้น ทั้งนี้ช่วงเวลาที่ใช้ คือ ทุกช่วงเวลาซื้อขาย ยกเว้น Pre-close
"หากย้อนกลับไปที่กรณีของหุ้น MORE ความผิดปกติที่เกิดขึ้นคือ มีการส่งคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างผิดปกติ ตั้งแต่ก่อนเปิดตลาด หรือฝั่งคนซื้อมีการซื้อในทุกราคาเข้ามา ซึ่งมาตรการ Auto Halt นี้เราจะป้องกันในการที่จะเกิดอย่าง MORE ซ้ำ ฉะนั้นเมื่อดูแล้ว Pre-open มีจำนวนคนที่สั่งซื้อหรือขายเข้ามามาก จนกระทั่งเกิน 15% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียน ระบบจะเกิดการ Halt หุ้นนั้น หมายความว่า หุ้นนั้นจะไม่มีการ Matching ระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย แต่คำสั่งยังอยู่ ขณะเดียวกันสิ่งที่โบรกเกอร์ต้องทำคือ ต้องไปดูว่าคำสั่งที่ซื้อมากกว่าปกติมันสมเหตุสมผลหรือไม่ และทำการติดต่อลูกค้า เพื่อตรวจสอบคำสั่งว่ามีการส่งคำสั่งผิดหรือไม่ หรือต้องการซื้อจริงหรือไม่ หากมีการส่งคำสั่งผิด ก็จะได้ทำการแก้ไขได้ ก่อนที่จะเปิดเทรดใหม่อีกครั้ง หรือหากดูแล้วเป็นการเทรดเกินวงเงิน เกินอำนาจที่ลูกค้าจะสามารถจ่ายเงินได้ โบรกก็จะได้ดูว่าจะควบคุมความเสี่ยงนี้ยังไง จึงเป็นที่มาว่าระบบจะไม่ได้ไปยกเลิก แต่ระบบจะทำให้โบรกมีเวลาไปติดต่อกับลูกค้า เพื่อดูแลออเดอร์ที่มีการส่งเข้ามาจนทำให้เกิด Trigger" นายรองรักษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ