นายสุจริต ปัจฉิมนันท์ ประธานกรรมการ บมจ.ราชพัฒนา เอ็นเนอร์ยี (SCG) กล่าวว่า นับตั้งแต่บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ได้เข้าถือหุ้นร่วมกับเครือสหพัฒน์ โดยถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 51.67% ในเดือนธ.ค. 64 คณะกรรมการบริษัทได้วางนโยบายมุ่งขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดย่อมทั้งภายในประเทศและประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและรองรับแผนขยายการลงทุนดังกล่าว จึงมีมติให้เปลี่ยนชื่อในการดำเนินธุรกิจจากบมจ.สหโคเจน (ชลบุรี) เป็นบมจ.ราชพัฒนา เอ็นเนอร์ยี เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา
นางสาวสุวิมล ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการ SCG กล่าวว่า บมจ.สหโคเจน (ชลบุรี) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 39 โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภท Firm ระบบ Cogeneration และไฟฟ้าส่วนที่เหลือ รวมทั้งไอน้ำ จำหน่ายแก่โรงงานอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์-ศรีราชา เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
ล่าสุด บริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ภายใต้งบประมาณการลงทุนรวม 2.7 พันล้านบาท เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่จะครบอายุสัญญา (SPP Replacement) ซึ่งได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 67 โดยที่การเปิดตัวโรงไฟฟ้าใหม่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอย่างไม่มีสะดุด โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 79.5 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 75 ตัน/ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัททะยานสู่ 153 เมกะวัตต์และไอน้ำ 110 ตันต่อชั่วโมง โรงไฟฟ้าใหม่นี้ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ บริษัทได้เปลี่ยนชื่อในการดำเนินธุรกิจสู่บมจ.ราชพัฒนา เอ็นเนอร์ยี เพื่อแสดงถึงความเป็นพันธมิตร ระหว่าง RATCH และเครือสหพัฒน์ พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจสู่พลังงานหมุนเวียน โดยการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งแบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) และแบบติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) ซึ่งในปี 67 นี้ คาดว่าบริษัทและบริษัทในเครือจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) รวมราว 21 เมกะวัตต์ ตามสัดส่วนการถือหุ้น