นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เตือนรัฐบาลที่มีแนวคิดจะแก้กฎหมายลดระยะเวลาติด Blacklist หนี้เสีย 8 ปีโดยระบุว่า ขอนำเสนอเป็นข้อมูลด้วยความสุจริตใจเป็นที่ตั้ง เพราะเครดิตบูโรอยู่ตรงกลาง ไม่มีส่วนได้เสียกับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้กำกับดูแล และผู้กำหนดนโยบาย
นายสุรพล ระบุว่า การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประสบภัยจากโควิดจนกลายเป็นหนี้เสีย ชำระหนี้ไม่ได้ เป็นนโยบายมาทุกรัฐบาล และทุกรัฐบาลต้องการให้ลูกหนี้ที่มีบัญชีหนี้เสียนี้กลับเข้าสู่ระบบ กู้เงินได้อีกครั้ง แต่จะใช้วิธีการอย่างใดจึงจะสมดุลทั้ง
ความเป็นธรรมของผู้เป็นหนี้เสียที่ทุกข์ทรมานจากผลกระทบของโควิดจนไปต่อได้ยาก
หลักกฎหมาย เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา
ความเสี่ยงและความมั่นคงของระบบการเงินว่าหนี้เสียจะเพิ่ม จะลด คนเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มหรือลดลง
ความเสี่ยงของผู้ฝากเงินที่จะถูกนำไปปล่อยกู้ต่อว่าเขาเหล่านั้นคิดอย่างไร
ความรู้สึกของลูกหนี้ดีที่ชำระปกติมาโดยตลอดเขาจะคิดอย่างไร
เป้าหมายทางนโยบายที่ต้องการผลสำเร็จที่ตอบโจทย์กับปัญหาทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
คำถาม คือ การแก้ไขลดระยะเวลาจาก 8 ปีทำได้หรือไม่ คำตอบ คือ ทำได้ โดยการออกประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค) หรือประกาศ กคค. โดยต้องชั่งน้ำหนักว่าความเสี่ยงและการแลกเปลี่ยน หรือเป้าหมายที่จะให้ลูกหนี้เจ้าของบัญชีหนี้เสียที่ไม่จ่าย ไม่ทำ TDR นั้นสามารถยื่นขอกู้ได้โดยว่าที่เจ้าหนี้ใหม่ไม่เห็นข้อมูลเมื่อใด ความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้ผากเงินรับได้ตรงไหน มาตรฐานสากลเป็นอย่างไร หากมีข้อมูลครบ ตัดสินใจได้ เครดิตบูโรไม่มีอำนาจตัดสินใจ เรามีหน้าที่ดำเนินการตามประกาศคำสั่งอย่างเดียว
ย้ำอีกครั้ง คือ ไม่ต้องแก้กฎหมาย แค่ออกประกาศใหม่ทับประกาศเก่า จะทำหรือไม่อยู่ที่ กคค. ซึ่งมีผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน มีผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.เป็นเลขานุการ ในส่วนของคณะกรรมการบริษัทเครดิตบูโรไม่มีอำนาจใดๆเลยในเรื่องนี้ เราให้ข้อมูลและรับคำสั่งมาปฎิบัติอย่างเดียว
นายสุรพล ระบุว่า ประเด็นดังกล่าวมาจากข่าวแนวคิดแนวทางในการที่จะช่วยผู้คนซึ่งไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน แต่ต่อมาไม่สามารถชำระหนี้ได้ จนเลยเวลา 90 วันหรือค้างเกินกว่า 3 งวด หรือเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป สถานะของลูกหนี้ที่มีบัญชีสินเชื่อดังกล่าวนั้นคือหนี้เสีย หรือ NPLs ลูกหนี้ที่มีบัญชีอย่างนี้ในประวัติของตนก็จะไปขอกู้เงินใหม่อีกครั้งก็จะยากมาก เพราะหนี้เก่าที่ค้างชำระจนเสียนั้นยังไม่จ่ายจะมาได้เงินกู้ใหม่ได้อย่างไร
สถาบันการเงินที่จะมาเป็นเจ้าหนี้ใหม่ก็มีกติกาปกป้องจากผู้กำกับดูแลว่าถ้าตัวคนมายื่นขอกู้เพิ่มใหม่นั้นยังมีบัญชีที่ค้างชำระจนเกิน 3เดือนมาแล้วคาตาในเวลาที่ยื่นขอกู้และก็ยังไม่ได้ชำระหนี้ดังกล่าว การจะอนุมัติเอาเงินฝากของผู้ฝากเงินไปให้กับคนที่มีปัญหายังไม่ได้แก้ไขคงจะทำไม่ได้แน่นอน
ประเด็นที่น่าคิดก็คือว่าในช่วงปี 63-65 มันมีเหตุการณ์โรคระบาด ส่งผลทำให้เกิด incomes shock มีการสั่งห้ามการพบหน้ากันlock down กัน เหตุปัจจัยนี้จะไปบอกว่าเป็นความผิดของลูกหนี้ที่ค้าขาย ทำงาน ทำอาชีพอิสระ ตั้งใจจะเบี้ยวหนี้จนเป็นหนี้เสียเลยทั้งหมดก็คงไม่ได้ดังนั้น ในระบบการเงินไทยเราจึงมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่มีบัญชีหนี้เสียเพราะโควิดที่เรียกว่า บัญชีหนี้เสียรหัส 21 หรือบัญชี NPLs code 21 ตรงนี้ทุกรัฐบาลก็พยายามหาหนทางในการแก้ไข
วิธีการในการแก้ไขหลักๆ คือการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาหรือการทำTDR เพื่อให้บัญชีหนี้เสียกลายมาเป็นบัญชีหนี้ปรับโครงสร้างฯและกลายเป็นบัญชีหนี้ปกติในที่สุด นวทางต่างๆทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีการกำหนดไว้ รวมความพยายามสื่อสารให้ลูกหนี้ เจ้าหนี้ มาตกลงกันในจุดที่พอจะไปกันได้ จูงมือกันเดินต่อไป ผลก็เป็นอย่างที่มีการแถลงตัวเลขกัน
กลับมาที่ประเด็นของเรื่องที่อยากจะแก้ไขกติกาการกำหนดในปัจจุบันว่า ถ้าบัญชีใดเป็นหนี้เสียเป็น NPLs แล้ว หากลูกหนี้รายนั้นที่เป็นเจ้าของบัญชีไม่ยอมจ่ายไม่ยอมปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา ไม่ยอมทำ TDR ถูกฟ้อง ถูกดำเนินคดี เราจะยอมให้มีข้อมูลที่แสดงสถานะการเป็นหนี้เสียในระบบของเครดิตบูโรนานเท่าใด นับแต่วันที่บัญชีนั้นค้างเกิน 90 วัน
ถ้าเอาตามกฎหมายในอดีต ก็ต้องส่งข้อมูลการเป็นหนี้เสียเข้ามาในระบบต่อเนื่องไปตลอดจนกว่าจะมีการชำระเป็นปกติ หรือมีการทำ TDR สมัยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเป็นประธาน กคค. ในเวลานั้น ได้พิจารณาว่าเพื่อช่วยลูกหนี้ที่มีบัญชี NPLs ในประวัติของตน จึงได้มีการหารือกันทั้งระบบสถาบันการเงินและพบว่าในสหรัฐเมริกาเขาจะเก็บข้อมูลไว้นาน 7 ปี ในอังกฤษ 6 ปี จึงได้มีการตัดสินใจในวันนั้น
โดยออกประกาศของ กคค.ออกมารองรับว่าถ้าบัญชีใดค้างเกิน 90 วันและยังไม่มีการชำระกลับมาเป็นปกติ หรือยังไม่ทำ TDR ก็ให้เจ้าหนี้ส่งข้อมูลต่อเนื่องทุกเดือนเข้ามาในระบบจนครบ 5 ปี กล่าวคือข้อมูลที่ปรากฎในรายงานเครดิตบูโรจะแสดงข้อมูลของปีที่ 5, ปีที่ 4, ปีที่ 3 หรือที่เราเรียกว่า 3 ปีย้อนหลัง รายงานก็จะบอกว่าบัญชีดังกล่าวนั้นค้างเกิน 90 วันแสดงอยู่จำนวน 36 เดือน หรือ 36 บรรทัด
จากนั้นเมื่อสถาบันการเงินส่งข้อมูลเข้ามาจนเห็นเป็นเดือนสุดท้ายของปีที่ 5 ลากลงมาจนถึงเดือนที่หนึ่งของปีที่ 3 แล้วในปีที่ 6 เดือนที่1 เครดิตบูโรก็เริ่มลบข้อมูลเดือนที่ 1 ของปีที่ 3 และในเดือนที่ 2 ของปีที่ 6 เครดิตบูโรก็จะลบข้อมูลของเดือนที่ 2 ของปีที่ 3 ทำอย่างนี้เรื่อยไป ดังนั้นข้อมูลจะทยอยถูกลบไปจนบรรทัดสุดท้ายในระบบจะหายไปในเดือนที่ 12 ของปีที่ 8 รวมระยะเวลาที่บัญชีหนี้เสียดังกล่าวอยู่ในระบบคือ 8 ปี (5 ส่ง+3 ลบ) โดยจะแสดงผลย้อนหลัง
หากเราเป็นเจ้าหนี้ในปีที่ 8 เราจะเห็นข้อมูลว่าบัญชีหนี้สินกรณีนี้เป็นบัญชีหนี้เสีย เพราะยังไม่มีการชำระหนี้ตั้งแต่อดีตนับจากวันที่ค้างชำระเกิน 90 วัน คือเห็นประวัติย้อนไปได้ 8 ปีย้อนหลัง โดยบรรทัดสุดท้ายที่จะเห็นคือเดือนที่ 12 ของปีที่ 5 หลังจากครบ 8 ปีแล้วข้อมูลทั้งบัญชีนี้จะหายไปจากระบบ แต่มูลหนี้ไม่ได้หายไป เจ้าหนี้เจ้าของบัญชีดังกล่าวยังมีสิทธิในการติดตามหนี้ตามกฎหมาย หากแต่สถาบันการเงินอื่นจะไม่เห็นข้อมูลนี้หากลูกหนี้เจ้าของบัญชี NPLs นี้ไปยื่นขอกู้ใหม่กับสถาบันการเงินใหม่
ระยะเวลา 8 ปีจึงเป็นเหมือนกติกาที่แลกเปลี่ยน (Trade off) ระหว่างการไม่ยอมชำระหนี้ การไม่ทำ TDR แลกกับการกู้เงินไม่ได้ในช่วง 8 ปี เพื่อปกป้องคุ้มครองเงินฝากที่สถาบันการเงินจะเอามาให้กับลูกหนี้รายนี้ในวันนั้นมองกันว่าสมควรแก้เหตุอยู่ที่ตรงนี้