ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ CPALL วงเงิน 1.3 หมื่นลบ.ที่ A+ แนวโน้ม Positive

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 4, 2024 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.3 หมื่นล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 12 ปี ของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "A+" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ไปใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้เดิม

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กร รวมทั้งอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีหลักประกันและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ "A+" อีกทั้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ "A-" พร้อมทั้งคงแนวโน้มอันดับเครดิต "Positive" หรือ "บวก" ด้วย

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทจากการมีเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศรวมทั้งการมีธุรกิจสนับสนุนที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทยังมีปัจจัยสนับสนุนความแข็งแกร่งจากการมีบริษัทย่อยต่าง ๆ ที่มีสถานะเป็นผู้นำในธุรกิจค้าส่งอาหารและธุรกิจค้าปลีกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงบางส่วนจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีกตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมานิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 9.2 แสนล้านบาทในปี 2566 และ 2.4 แสนล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2567 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 8.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 8 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และเพิ่มขึ้น 13.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2567 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA อยู่ที่ระดับ 4.6-4.7 เท่าในช่วงปี 2566 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งลดลงจากระดับ 5.3 เท่าในปี 2565 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและธุรกิจค้าปลีก ในขณะที่บริษัทดำเนินกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นทั้งช่องทางแบบออนไลน์และแบบหน้าร้าน (Omni Channel) และคาดว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากการที่ตลาดฟื้นตัว รวมถึงการผสานพลังทางธุรกิจจากบริษัทลูกต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2567 บริษัทมีเงินสดในมือจำนวนประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าอีกด้วย ทั้งนี้ เงินสดในมือและเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะมีเพียงพอสำหรับใช้ชำระหนี้ที่จำนวน 3.9 หมื่นล้านบาทซึ่งจะครบกำหนดในช่วง 12 เดือนข้างหน้าและสำหรับค่าใช้จ่ายตามแผนการลงทุนรวมที่จำนวนประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาทในปี 2567

ณ เดือนมีนาคม 2567 หนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทซึ่งไม่นับรวมหนี้สินจากสัญญาเช่าทางการเงินมีจำนวนทั้งสิ้น 3.33 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประมาณ 1.09 แสนล้านบาท อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 33% ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกัน ของบริษัทนั้นไม่มีความเสียเปรียบเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญ

ตามข้อกำหนดทางการเงินของตราสารหนี้ที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุน (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่ำกว่า 2.0 เท่านั้น ณ เดือนมีนาคม 2567 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.8 เท่า ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดช่วงระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต "Positive" หรือ "บวก" สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและโครงสร้างเงินทุนที่มีอัตราส่วนหนี้สินที่ลดลง ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะผู้นำและความสามารถในการแข่งขันอีกทั้งจะยังคงมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการมีกระแสเงินสดที่สูงและมั่นคงจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินเพื่อสนับสนุนแผนการลงทุนในอนาคตของบริษัทได้ต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากโครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวดียิ่งขึ้นจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่า 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาระหนี้จนถึงระดับที่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลานาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ