หุ้น PTG บวก 1.69% มาอยู่ที่ 9.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท มูลค่าซื้อขาย 25.75 ล้านบาท เมื่อเวลา 11.02 น. โดยเปิดตลาดที่ 8.90 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 9.00 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 8.85 บาท
บล.กสิกรไทย แนะนำ "ซื้อ" หุ้น บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ให้ราคาเป้าหมาย 11 บาท คาดกำไรไตรมาส 2/67 จะฟื้นตัวและราคาหุ้นอยู่ในระดับที่น่าสนใจ เพราะคาดปริมาณการขายน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย QoQ ทำสถิติสูงสุดใหม่ รับแรงหนุนจากวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ขณะเดียวกันยังคาดว่าอัตรากำไรน้ำมันจะสูงขึ้น QoQ จากการปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2 บาท/ลิตรในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ช่วยชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นจากการเริ่มใช้มาตรฐานน้ำมัน EURO5
ขณะที่บริษัทยังคงขยายพอร์ตลงทุนในธุรกิจ non-oil อย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งกำไรขั้นต้นจากธุรกิจ non-oil ให้ถึง 25-30% ภายในปีนี้ ล่าสุด PTG ได้รับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ "ซับเวย์" ในไทย 20 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ทำอยู่ โดยตั้งเป้าเปิดซับเวย์สาขาใหม่ 10-20 สาขาในปีนี้ ซึ่งยังไม่นับรวม Upside ดังกล่าวไว้ในประมาณการกำไรของฝ่ายวิเคราะห์
สำหรับความคืบหน้าการเสนอขายหุ้น IPO ของธุรกิจ LPG (ATL) ผู้บริหารคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4/67-ไตรมาส 1/68 แม้ปริมาณการขาย LPG ภาคครัวเรือนของ PTG จะเพิ่มขึ้น 12.1% YoY ในไตรมาส 1/67 แต่ผู้บริหารเชื่อว่าจะยังสามารถเติบโตได้สูงกว่านี้ เพราะปัจจุบันยังถูกจำกัดด้วยจำนวนร้านจำหน่ายก๊าซ โดยหากขาย IPO สำเร็จคาดว่าจำนวนร้านจำหน่ายก๊าซของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจะส่งผลให้ปริมาณขายก๊าซหุงต้มในครัวเรือนเติบโตเร็วขึ้น คาดว่าจะได้ส่วนแบ่งการตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากสินเชื่อรถบรรทุกมือสอง บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไร 15 ล้านบาท จากการถือหุ้น 33.33% ใน Paisan Capital ไตรมาส 1/67 และคาดว่าส่วนแบ่งจะยังคงทรงตัวที่ระดับนี้ในช่วง 3 ไตรมาสต่อจากนี้ ซึ่งสูงเป็น 2 เท่าของประมาณการของฝ่ายวิเคราะห์
ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 ของ PTG เติบโตเกิน 50% หรือเพิ่มขึ้นอยู่กว่า 400 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากค่าการตลาดน้ำมันดีขึ้น และปริมาณยอดขายน้ำมันเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากการที่กระทรวงพลังงานอนุญาตให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทยเป็น 31.94 บาทต่อลิตร เมื่อวันที่ 17 พ.ค.67 ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 2.00 บาทต่อลิตรจากเดือน มี.ค. เนื่องจากผลขาดทุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจนทะลุ 1 แสนล้านบาทไปแล้ว และขึ้นไปจนเกือบถึงระดับสูงสุดเดิมที่ 1.3114 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 20 พ.ย.65 (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.109 แสนล้านบาท)
การที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลขยับสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลดีขึ้น ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงคาดว่าค่าการตลาดน้ำมันของ PTG ในไตรมาส 2/67 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.75 บาท/ลิตร (เพิ่มขึ้น 10% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 13% เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา) สอดคล้องกับมุมมองของผู้บริหารที่ 1.70-1.80 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้ PTG ยังคาดว่าปริมาณยอดขายน้ำจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 12% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และน่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ในไตรมาส 2/67 เนื่องจากมีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในฤดูเก็บเกี่ยวของไทย อีกทั้งยังคาดว่ากำไรจากธุรกิจ Non-Oil จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณยอดขายก๊าซ LPG และกาแฟพันธุ์ไทยเพิ่มขึ้น
ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การตัดสินใจของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท ผู้บริหาร PTG คาดว่าจะส่งผลกระทบกับบริษัทประมาณ 0.06-0.07 บาทต่อลิตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300-350 ล้านบาทต่อปี หรือเท่ากับ 23-26% ของประมาณการกำไรปี 68 ของฝ่ายวิจัยที่ 1.3 พันล้านบาท ซึ่งผู้บริหารตั้งเป้าจะปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันเพื่อชดเชยผลกระทบดังกล่าวบางส่วน
ยังคงแนะ "ซื้อ" PTG คงราคาเป้าหมายปี 67 ที่ 10.40 บาท อิงจาก P/E ที่ 15.0 เท่า และฝ่ายวิจัยยังเพิ่ม PTG เข้ามาในพอร์ตหุ้นเด่นของบริษัทในกลุ่มพลังงาน สำหรับช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า เนื่องจากคาดว่าจะได้อานิสงส์จากการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล แต่ปัจจัยลบเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวันน่าจะกลับมาเป็นประเด็นความกังวลอีกครั้งหลังสิ้นเดือน ก.ค.เมื่อคณะกรรมการของแต่ละจังหวัดจะเสนอค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมกับจังหวัดของตัวเองต่อคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีแล้ว