สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดย นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก เผยแพร่รายงานเรื่อง "เปิดกว้างการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยลงทุนเองโดยตรง หรือ ใช้บริการผู้เชี่ยวชาญ" โดยระบุว่า การประกอบธุรกิจ "สินทรัพย์ดิจิทัล" ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.ในช่วงแรกนับจากปี 2561 ประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ผู้ประกอบธุรกิจฯ) ที่ได้รับใบอนุญาต 3 ประเภท คือ ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้า มีจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลประมาณ 2 แสนราย ขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีมากกว่า 2 ล้านบัญชี และมีประเภทผู้ประกอบธุรกิจฯ ที่หลากหลายมากขึ้น
ผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจและมีเวลาติดตามสถานการณ์ที่ต้องการซื้อขายหรือลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยตัวเองโดยตรง อาจจะซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือใช้บริการนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่หากเป็นผู้ลงทุนที่ต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล อาจจะลงทุนผ่านผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือใช้บริการที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการแนะนำการลงทุน ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลซึ่งอาจสอดคล้องกับรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์และความเสี่ยงที่แต่ละบุคคลยอมรับได้
ก.ล.ต. มีแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับผู้ประกอบธุรกิจฯ แต่ละประเภท และเป็นไปตามหลัก same activity, same risk, same regulatory outcome โดยอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน คือ การรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (market integrity) และคุ้มครองผู้ลงทุน โดยมีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ต้องมีระบบการบริหารจัดการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้ในการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet) และกุญแจ (cryptographic key) เพื่อให้การเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทรัพย์สินของลูกค้ามีความปลอดภัย
ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทรวม 21 บริษัท และในอนาคตอาจมีเพิ่มขึ้นอีกได้ เนื่องจาก ก.ล.ต. สนับสนุนให้มีผู้ประกอบธุรกิจฯ ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ในการให้บริการผู้ลงทุนไทย โดยบางบริษัทอาจให้บริการทั้งคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ขณะที่บางบริษัทอาจให้บริการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ฯ ได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th) หัวข้อ "สินทรัพย์ดิจิทัล"
นอกจากจะซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรงผ่านผู้ประกอบธุรกิจฯ แล้ว ผู้ลงทุนยังสามารถลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยอ้อมผ่านหลักทรัพย์ได้ด้วย เช่น การลงทุนใน "crypto ETF ต่างประเทศ" ผ่านกองทุน UI ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทั้งนี้ crypto ETF นั้นต้องเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีหน่วยงานกำกับดูแล เช่น Spot Bitcoin ETF ของสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ก.ล.ต. ได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุน UI ที่มีนโยบายลงทุนใน crypto ETF ไปบ้างแล้ว ซึ่งเป็นการลงทุนแบบ feeder fund/fund of funds ต่างประเทศ ที่มีการคัดกรองโดย บลจ. ไทย และ บลจ. ต่างประเทศที่บริหาร crypto ETF ซึ่งกำกับดูแลโดยหน่วยงานกำกับดูแลต่างประเทศ ไม่ใช่เป็นการจัดตั้ง crypto ETF ขึ้นในประเทศไทย
กองทุน UI เป็นกองทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ห้ามขายให้ผู้ลงทุนรายย่อย ซึ่ง ก.ล.ต. เปิดให้ลงทุนในตราสารหรือธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภท เพราะเป็นผู้ลงทุนที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านการเงิน ความรู้และประสบการณ์ สามารถดูแลตัวเองในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้ ซึ่งเกณฑ์การลงทุนของผู้ลงทุนกลุ่มนี้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2560
ส่วน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาจะต้องมีการลงทุนในหลักทรัพย์ อนุพันธ์และเงินฝาก รวมกันไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท หรือมีรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 6 ล้านบาท หรือมีทรัพย์สินสุทธิไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท และต้องมีความรู้หรือประสบการณ์การลงทุน เช่น ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเป็นประจำและต่อเนื่อง หรือมีความรู้ความเข้าใจในหลักทรัพย์ที่ลงทุนอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังมีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้กองทุนรวมบางประเภทสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนใน "crypto ETF ต่างประเทศ" ได้ในระดับหนึ่ง เพื่อให้กองทุนรวมดังกล่าวสามารถกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายยิ่งขึ้นได้ (asset allocation) โดยจะมีข้อกำหนดและเงื่อนไขเพิ่มเติมจากกองทุนรวมทั่วไปเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับท่านที่สนใจซื้อขายหรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่มีความรู้ความเข้าใจในระดับ "มือใหม่" ขอแนะนำหลักสูตร e-learning "ก.ล.ต. Crypto Academy" ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลอีกช่องทางหนึ่ง สามารถคลิกเข้าไปที่ www.seccryptoacademy.com โดยในหลักสูตรนี้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เริ่มจากความรู้พื้นฐาน ความเข้าใจถึงความเสี่ยงในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่ รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันภัยกลโกงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้วยตัวเอง หรือ ลงทุนผ่านผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงกว่าสินทรัพย์เพื่อการลงทุนทั่วไป