นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม (THCOM) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ไลเซ่นส์ Oneweb ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมจากอังกฤษเข้ามาให้บริการในประเทศไทย โดยอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในไทย (landing right) ของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ(NT)นั้นว่า ไม่ส่งผลกระทบกับไทยคม
เนื่องจากธุรกิจให้บริการของ Oneweb กับ NT จำกัดเพียงในประเทศไทย ขณะที่การแข่งขันด้านราคา ประสิทธิภาพของการใช้งาน บริษัทเชื่อว่าดาวเทียมไทยคมจะสามารถให้บริการได้ดีในพื้นที่เป็นแบบ Fixed Service และให้บริการบรอดแบนด์ ทั้งในพื้นที่ในไทยและต่างประเทศ ขณะที่บริการดาวเทียม LEO ที่ดำเนินการโดย Oneweb กับ NT น่าจะเหมาะกับพื้นที่ที่เคลื่อนไหว เช่น บนเครื่องบิน บนเรือ มากกว่า
"ไม่น่าเป็นห่วง เพราะการแข่งขันราคา และประสิทธิภาพของการใช้งาน เราเชื่อว่าดาวเทียมไทยคมสู้ได้" นายปฐมภพกล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นอกจากนี้ THCOM กำลังพิจารณาจะเพิ่มบริการดาวเทียม LEO ในตลาดไทยและตลาดเอเชียแปซิฟิก โดยมีการเจรจาดีลอยู่ 3-4 ราย ซึ่งปัจจุบัน นอกจาก StarLink และ Oneweb ที่เป็นผู้ให้บริการดาวเทียม LEO รายใหญ่ของโลกแล้ว ในอนาคตอันใกล้ก็จะมีเพิ่ม 2-3 ราย ซึ่ง THCOM ก็กำลังดูเรื่องเทคโนโลยีของแต่ละรายก่อนจะร่วมมือเป็นพันธมิตรเพื่อจะได้เข้ามาเสริมพอร์ตที่มีอยู่
โดยปลายปีที่ผ่านมา THCOM ได้เซ็นสัญญา Oneweb ร่วมมือกันไปทำตลาดในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบระบบอยู่และคาดว่าจะดำเนินการได้ในปีนี้ และยังจับมือกับ Globalstar ลงทุนดาวเทียม LEO ในไทยที่รองรับกับการใช้ IoT เมื่อปี 65
นายปฐมภพ กล่าวว่า ไทยคมยังอยู่ระหว่างการสร้างดาวเทียมดวงใหม่ 3 ดวง เป็นดาวเทียมเล็ก 2 ดวง (ไทยคม 9 และ ไทยคม 9A) และดาวเทียมดวงใหญ่ (ไทยคม 10) ที่เป็นไปตามแผน ระหว่างนี้บริษัทหาลูกค้าดาวเทียมดวงใหม่ โดยสามารถให้ลูกค้าใหม่เข้ามาใช้งานดาวเทียมไอพีสตาร์ (ไทยคม 4) ไปก่อนจะโอนย้ายไปดาวเทียมดวงใหม่ โดยดาวเทียมไทยคม 9 ,9A จะยิงขึ้นสู่วงโคจรในปี 68 และดาวเทียมไทยคม 10 ยิงในปี 70 ทั้งนี้ ตลาดหลักเป็นไทย อินเดีย และยังมีประเทศในเอเชียแปซิฟิก และ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นลูกค้าเดิม