CONSENSUS: BEM ฉลุย!! ปลดล็อกสายสีส้มอัพมูลค่า-ค่าตั๋วขึ้น รอดีล Double Deck ยืดสัมปทาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 17, 2024 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้ข่าวดี 2 เด้งหนุน Sentiment ทั้งการปรับขึ้นค่าโดยสาร MRT สายสีน้ำเงินเริ่ม 3 ก.ค.นี้ และศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วยปลดล็อกเซ็นสัญญา โบรประเมินหนุน Value ราคาหุ้น BEM ขึ้นมา 1-2 บาท/หุ้น

ขณะที่โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) หรือ Double Deck ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างเจรจาให้ BEM เป็นผู้ลงทุน แลกกับการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปี 67 หรือ ครึ่งแรกปี 68 แต่ยังมีโบรกเกอร์บางรายกังวลกรณีที่ รมว.คมนาคม อาจขอต่อรองให้ลดค่าทางด่วน ทำให้ดีลนี้อาจไม่ได้ประโยชน์กับ BEM มากนัก

อย่างไรก็ตาม ส่องแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/2567 คาดว่ากำไร BEM จะเติบโตทั้ง YoY และ QoQ แม้ว่าปริมาณจราจร และปริมาณผู้โดยสารอ่อนตัวจากไตรมาส 1/2567 แต่ยังมีเงินปันผลจากบริษัทในกลุ่ม CK เข้ามาช่วยหนุนกำไร

          โบรกเกอร์              คำแนะนำ	    ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          บัวหลวง		     ซื้อ                12.40
          ทิสโก้                     ซื้อ                10.70
          อินโนเวสท์เอกซ์         Outperform            10.50
          ดาโอ                     ซื้อ                10.40
          ฟินันเซีย ไซรัส              ซื้อ                10.31
          พาย                      ซื้อ                10.00
          แลนด์แอนด์เฮ้าส์             ซื้อ                 9.70
          กรุงศรี                    ซื้อ                 9.50

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2 เหตุการณ์ที่ส่งผลเชิงบวกต่อ BEM ดังนี้

  • 11 มิ.ย. คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ BEM ขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินราว 1 บาท/สถานี ยกเว้นสถานีแรก มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2567 ถึงวันที่ 2 ก.ค.2569 (หรือ ประมาณ 24 เดือน) เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของ กทม.สูงขึ้น หลังปรับราคาใหม่แล้วค่าโดยสารจะอยู่ในช่วง 17-45 บาท จากเดิมที่ 16-43 บาท
  • 12 มิ.ย. ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

นายปฏิภาค นวารัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บล.กรุงศรี กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เป็นการปรับขึ้นตามรอบที่ได้ปรับทุก 2 ปี ซึ่งที่ผ่านมารัฐให้ BEM เลื่อนปรับ 2-3 เดือน หรือ 6 เดือน แต่รอบนี้พิเศษที่ให้ปรับขึ้นตามรอบได้เลย มองว่า BEM ได้ benefit แต่ก็ไม่ได้ปรับประมาณการเพราะเป็นการปรับขึ้นไม่มากเพียง 1 บาท/สถานี หรือ เพิ่มขึ้น 2-3% ถือว่าไม่ได้มีนัยสำคัญ

ส่วนประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลชั้นต้นคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำให้คาดว่า BEM ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลจะมีโอกาสลงนามสัญญาในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะรัฐบาลก็อยากเร่งให้เกิดเมกะโปรเจ็กต์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต หลังจากโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตกล่าช้ามามากแล้ว และงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออกก็เสร็จแล้ว

ขณะที่ราคาหุ้น BEM ที่ผ่านมาถูกความกังวลเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มกดดันอยู่ ทำให้ราคาลงมาที่ 7 บาทกว่า ๆ จากที่เคยอยู่ 8-9 บาท เมื่อปลดล็อกโครงการได้แล้ว คาดว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มจะช่วยสนับสนุนให่กำไรเติบโตอีก 11-12% โดยได้เพิ่มราคาอีก 1 บาท ทำให้ราคาเหมาะสมอยู่ที่ 9.50 บาท

สำหรับทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) นายปฏิภาค มองว่า Value สูงกว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เคยคาดไว้ 1.50 บาท แต่ตอนนี้ประเด็น Double Deck ความเสี่ยงอยู่ที่ รมว.คมนาคมอยากให้เจรจาลดค่าผ่านทางด่วนจากปัจจุบัน ดังนั้น จึงต้องเจรจาต่อรอง 2 เรื่อง แม้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะให้ BEM เป็นผู้ลงทุนและสร้าง Double Deck มูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาท แลกกับการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนเดิมอีก 15 ปี แต่รอบนี้อาจมีเรื่องลดค่าทางด่วนเข้ามาเพิ่ม ก็มองว่าอาจจะต้องขยายเวลาสัมปทานออกไปอีก เพราะมองว่า 15 ปีไม่พอกับที่ต้องลดค่าผ่านทาง ดังนั้น มูลค่าที่เพิ่มขึ้น 1.50 บาทต่อการขยายเวลาสัญญาสัมปทาน 15 ปีคงไม่ได้แล้ว และมองว่ารอบนี้เจรจาต่อรองไม่ง่ายเพราะมีรายละเอียดมาก

"Double Deck ต้องแลกด้วยอะไร เท่าที่กล้าฟันธง BEM คงไม่ได้เอา Double Deck เป็นศูนย์ ถ้าได้ Double Deck แล้วไม่มี Value ก็ไม่เอา สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กัการเจรจา ถ้าได้มาก็ on top จาก 9.50 บาท"

ส่วนงานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ นายปฏิภาค มองว่า BEM ได้งานนี้ค่อนข้างแน่นอน แต่ Value น้อย เพราะเป็นการรับจ้างบริหารการเดินรถต่อจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ แม้จะได้รายได้และกำไรไม่มาก แต่ก็ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงขาดทุนเองเหมือนรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง

ไตรมาส 2/2567 กำไรจะเติบโตทั้ง YoY และ QoQ โดยธุรกิจทางด่วนในไตรมาสนี้จะอ่อนตัวกว่าไตรมาส 1/2567 ที่เข้าสู่ช่วงปิดเทอม 1 เดือนครึง ส่วนธุรกิจรถไฟฟ้า Traffic น้อยกว่าไตรมาส 1/2567 แต่ YoY Traffic เติบโต อย่างไรก็ดี กำไรของ BEM ในไตรมาส 2/2567 จะไม่ต่ำกว่าไตรมาส 1/2567 เพราะ BEM จะรับเงินปันผลจากการลงทุนในบริษัทในกลุ่ม คือ บมจ.ซีเคพาวเวอร์ (CKP) และ บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) ที่คาดว่าจะบันทึกเงินปันผล 337 ล้านบาท

ในปี 2567 ธุรกิจรถไฟฟ้า MRT คาดว่ารายได้จะเติบโต 15% จากการปรับขึ้นค่าตั๋ว และ Traffic โต 13% โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสาร 4.5 แสนคน/วัน ส่วนธุรกิจทางด่วนปีนี้ไม่โต เพราะพฤติกรรมการเดินทางเปลี่ยนไป ซึ่งมีการทำงานทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ทำให้มีการใช้ทางด่วนลดลง จากเดิมเติบโตปีละ 2-3% แต่ก็เห็นว่าธุรกิจนี้เป็น Cash Cow

ด้าน บล.พาย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มมีความชัดเจนมากขึ้นหลังสิ้นสุดคดีของศาลปกครอง ประเมินสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม (Net Cost Agreement) ที่ 1.5 บาท/หุ้น โดยสมมติฐานว่าจะเดินรถ MRT สายสีส้มฝั่งตะวันออกภายในเดือน ต.ค. 2570 ส่วนฝั่งตะวันตกคาดว่าจะเริ่มเดินรถเดือน มี.ค. 2573

ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสาร MRT สายสีน้ำเงิน ส่ง Sentiment บวก โดยเราได้รวมการปรับอัตราค่าโดยสาร 1 บาท/เที่ยว ไว้ในประมาณการแล้ว

ขณะที่ประเด็นลดค่าทางด่วน และสัมปทาน Double Deck จากข่าวที่ระบุว่า กทพ. และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ BEM ในการพิจารณาปรับโครงสร้างอัตราค่าผ่านทาง คาดว่าจะมีการยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก (ขาออก) ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น ซึ่งจากเดิมมีค่าผ่านทาง 25 บาท ทำให้เหลือ 0 บาท ส่วนด่านประชาชื่น (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 65 บาท เหลือ 50 บาท ขณะที่ด่านอโศก (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 50 บาท เหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ (ขาเข้า) จ่ายเงินทางขึ้น 25 บาท

เราประเมินว่า BEM จะไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว เนื่องจากคาดว่า กทพ.จะปรับลดลงส่วนแบ่งรายได้ลงจากเดิมที่ กทพ. /BEM สัดส่วน 60/40 ในเส้นทางพิเศษเฉลิมมหานคร (FLS) และทางพิเศษศรีรัช (SES Sector AB) ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนช่วงไตรมาส 3/2567

นอกจากนี้ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่จะสร้าง Double Deck เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กม.โดยเราคาดว่า BEM จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง 3.4 หมื่นล้านบาท และได้ต่อสัมปทาน FES และ SES (Sector ABCD) ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นภายในปลายปี 2567 โดยประเมิน upside จากโครงการ Double Deck 0.8 บาท/หุ้น

บล.พาย ระบุว่าปริมาณผู้โดยสารยังโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยในเดือน พ.ค.2567 ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพิ่มขึ้นเป็น 3.87 แสนเที่ยวต่อวัน (+12%YoY) ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารวันธรรมดาในเดือน พ.ค.2567 พุ่งแตะ 4.55 แสนเที่ยวต่อวัน

ส่วนปริมาณการจราจรบนทางด่วน ในเดือน พ.ค.2567 ยืนระดับ 1.1 ล้านเที่ยวต่อวัน (+0.5%YoY) หรือคิดเป็น 90% ของระดับก่อนเกิดโควิด-19 ดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาส 1/2567 ที่ 89%ของระดับก่อนเกิดโควิด-19 แม้มีวันหยุดหลายวัน

สำหรับ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มยุติลง มองเป็นบวกต่อ BEM และ CK จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีโอกาสกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง หลังจากที่ล่าช้ามานานเกือบ 4 ปี คาดว่าขั้นตอนต่อไป รฟม. จะรายงานผลคำพิพากษาและผลการประมูลต่อกระทรวงคมนาคม และหลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมจะเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ ทำให้เราคาดการณ์ว่า BEM จะสามารถลงนามสัญญาได้ภายในครึ่งหลังปี 67

เบื้องต้นเราประเมินโครงการดังกล่าวจะเป็น upside ต่อราคาเป้าหมายหุ้น BEM ราว 1-2 บาท/หุ้น โดยมองว่าบริษัทไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากโครงการเป็นลักษณะทยอยการลงทุน และงานก่อสร้างโยธาจะได้ subsidy ภายหลังจากรัฐ โดยเราประเมิน net D/E ในช่วง 1-2 ปีแรกของบริษัทจะอยู่ที่ราว 2x ต่ำกว่า covenant ที่ 2.5x

คงคำแนะนำ "ซื้อ" BEM ราคาเป้าหมาย 10.40 บาท โดยยังชอบ BEM เป็น Top pick กลุ่ม Ground Transport จากำไรปกติทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง นอกเหนือจากสายสีส้ม ยังมี catalyst จากโครงการ Double Deck ซึ่งคาดจะเห็นความคืบหน้าใน ครึ่งหลังปี 2567 ถึง ครึ่งแรกปี 2568


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ