นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) เปิดเผยในงาน Jaymart Group Analyst and Investor Meeting ชี้แจงประเด็นข่าวลบที่กดดันราคาหุ้นในกลุ่ม JMART โดยเฉพาะข่าวลือ กลุ่ม บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) มีแผนจะขายหุ้นบมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ภายหลังจากที่มีการขายหุ้นบมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) (KEX)
นายอดิศักดิ์ ยืนยันอีกครั้งว่า ข่าวลือดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริง เนื่องจาก บมจ.แรบบิท โฮลดิ้งส์ (RABBIT) ได้ทำสัญญากับบริษัทฯ ที่จะขายคืนหุ้น SINGER เกือบ 200 ล้านหุ้นภายในระยะเวลา 3 ปี ในราคาหุ้นละ 20 บาท ซึ่งทางบริษัทได้มีการแจ้งสารสนเทศครบถูกต้อง ทำให้ในความเป็นจริงแล้ว RABBIT ขาย SINGER ไม่ได้แม้แต่หุ้นเดียว
ส่วนกระแสข่าวว่า BTS อาจขาย JMART ด้วยนั้น อยากชี้แจงว่า ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทมีกำไร 700 ล้านบาท และปีนี้เชื่อมั่นว่ากำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทจะเติบโตอย่างแน่นอน จึงไม่มีเหตุผลที่กลุ่ม BTS จะขายหุ้น JMART ออกไป
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/67 ของกลุ่ม JMART คาดว่าจะเติบโตขึ้นจากไตรมาส 1/67 และไตรมาส 3/67 ก็จะเติบโตดีกว่าไตรมาส 2/67 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4/67 ที่จะเป็นไตรมาสที่เติบโตดีที่สุดของปี สะท้อนว่าครึ่งปีหลังนี้ผลประกอบการน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก
โดยเฉพาะ บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ยังสามารถสร้างผลกำไรที่ดี และ บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท (J) เตรียมเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ JAS Green Village Prawet ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ รวมถึงโครงการมิกซ์ยูส "JAS Village Ramkamhaeng" ในไตรมาส 3/67 เชื่อว่าจะผลักดันให้ผลกำไรสุทธิทำนิวไฮต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุนจาก บมจ.เอสจี แคปปิตอล (SGC) จากการเปิดตัวสินเชื่อ SG Finance+ ให้ดอกเบี้ยต่ำ เจาะตลาดสมาร์ทโฟน และร้านสุกี้ตี๋น้อย ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้มองว่าภาพโดยรวมไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะทำให้กลุ่มบริษัทมี Performance ลดลง
*JMT รับกำไรปีนี้รับแรงกดดันยอดเก็บหนี้หดตามภาวะศก. เตรียมฟ้องลูกค้า ทยอยลด ECL
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMT กล่าวว่า บริษัทยอมรับว่ากำไรสุทธิปีนี้น่าจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องด้วยในไตรมาส 1/67 อยู่ในสภาวะการชำระเงินจำกัด แม้ว่าลูกค้าจะยังชำระเงินเข้ามาปกติ แต่ไม่เกิดการเร่งตัว หรือการจ่ายที่เร็วขึ้นของลูกค้า และคาดว่าจะเห็นภาพลักษณะนี้ไปจนถึงสิ้นปีนี้
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในด้านผลการขาดทุนทางด้านเครดิตฯ (Expected Credit Loss : ECL) ซึ่งยังเป็นตัวฉุดผลประกอบการไตรมาส 1/67 ให้ปรับตัวลงเล็กน้อย จากการเก็บหนี้ลดลง รับผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว แต่หากตัด ECL ออกไปสักครึ่งหนึ่งจะเห็นการเติบโตของบริษัทฯ
บริษัทฯ จึงดำเนินการคัดลูกค้าบางกลุ่ม และได้เริ่มดำเนินคดีฟ้องลูกค้าราว 150,000 บัญชีเริ่มมาตั้งแต่ไตรมาส 2/67 จนครบ 6 เดือน ซึ่งจะทำให้ ECL ทยอยลดลงไป โดยจากสถิติเดิมเมื่อมีการดำเนินคดีกับลูกค้า จะทำให้ลูกค้าเข้ามาจ่ายหนี้มาประมาณ 20% หนุนยอดเก็บเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งบริษัทยังมี ECL อีก 300 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินคดีฟ้องต่อเนื่องด้วย วางงบค่าใช้จ่ายในการฟ้องไว้ราว 500 ล้านบาท
"ในปีนี้เราจะเริ่ม Reverse จากการเริ่มลด ECL ในไตรมาส 3 และ 4 ส่วนในปี 68 ตัวเลขของ JMT จะเริ่มตีกลับขึ้นมาเป็นปกติ ซึ่งก็ยอมรับว่า JMT ปีนี้กำไรน้อยกว่าปีก่อน แต่เรารู้โจทย์ตัวเราเองว่าเราจะกลับไปอย่างไร" นายสุทธิรักษ์ กล่าว
ด้านการซื้อหนี้เข้ามาบริหาร (AMC) ยอมรับว่ามีการชะลอลง คล้ายกับภาพรวมอุตสาหกรรม และเนื่องจากยังมีหนี้ที่ค้างอยู่ในกลุ่ม 30-90 วัน มองว่าเมื่อหมดโครงการพักหนี้ไปแล้ว จะเป็นโอกาสในการซื้อหนี้เข้าพอร์ตในครึ่งปีหลังนี้ โดยตั้งงบประมาณในการลงทุนเบื้องต้นไว้ราว 2,000 ล้านบาท จะซื้อเฉพาะ Unsecure Lone ที่ให้ผลตอบแทนลงทุน IRR 12% และหากมี IRR ที่ได้กลับมาเร็ว ก็จะเพิ่มเงินลงทุนในการซื้อหนี้มาบริหารมากขึ้น
ส่วน NPA สินทรัพย์รอการขายมีสินค้าเพิ่มขึ้นราว 1,000 หลังแล้ว และมีช่องทางการขายบ้านเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีออฟไลน์เป็นหลัก และช่องออนไลน์ ขณะนี้ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่ "Baan Baan" (บ้าน บ้าน) ทำให้เพิ่มรายได้ในส่วนของการขาย NPA ในปีนี้
*SINGER ลั่นเบรกอีเวนท์ Q1/68 หลังคุมเข้มค่าใช้จ่าย
นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SINGER กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถเบรคอีเว้นท์ได้ในไตรมาส 1/68 เนื่องจากปีนี้จะยังคงเดินหน้าควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับ Business Model ผ่านการปรับลดจำนวนพนักงาน (Staff) ให้เหลือเพียง 160 คนในสิ้นปีนี้, การปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร รวมถึงปิดคลังสินค้า สินค้ามือสอง พร้อมลด Operation ทั้งหมด โดยตั้งเป้าลด SG&A ในไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 4 ปีนี้ ราว 24 ล้านบาท/ไตรมาส
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/67 คาดว่าจะเติบโต 29% จากไตรมาสแรก และเติบโต 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่, สินค้ามือสอง และเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าคงคลังลดลง 48.5% จากการเร่งระบายสินค้ามือสอง และการขายสินค้าใหม่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน ส่วนการติดตั้งตู้จำหน่ายน้ำมัน 5 เดือนของปีนี้ติดตั้งไปแล้ว 352 ตู้ มากกว่าปีที่แล้วทั้งปีที่ติดตั้งไปได้ 350 ตู้ โดยวางเป้าสิ้นปีนี้จะสามารถติดตั้งได้ 840 ตู้ รวมเป็น 1,190 ตู้
ในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทคาดยอดขายเติบโต 50% จากครึ่งปีแรก และ 75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นช่วงการปรับโครงสร้างบริษัท ขณะที่ปีนี้จะมุ่งเน้นการคุมการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า, หยุดขายให้กับบัญชีที่ไม่ดีเพื่อหยุด NPL โดยตั้งเป้า NPL เครื่องใช้ไฟฟ้า ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ไม่เกิน 5% ตอบโจทย์การเติบโตอย่างมีคุณภาพ รวมถึงเร่งคืนสินค้ามือสอง ขายสินค้าใหม่ และพิจารณาสินค้าใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม เช่น Multi Brand Appliance, โครงการ Appliance Locking ลด NPL, Commercial Appliance และ Scale Bike EV
บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการเติบโตด้วยเทคโนโลยี ด้วย SG Finance+ ซึ่งภายในเดือนนี้จะมีการเปิดใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย หลังเปิดใช้ Lock Phone ไปแล้ว
*SGC ผุด SG Finance+ วางเป้าปล่อยสินเชื่อ 1 แสนสัญญาสิ้นปีนี้
นายอโณทัย ศรีเตียเพ็ชร กรรมการผู้จัดการ SGC กล่าวว่า หลังจากได้ทดลองโครงการ SG Finance+ ในช่วงที่ผ่านมา มีการเติบโตของยอดปล่อยสินเชื่อค่อนข้างมาก ทำให้ปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อมือถือไว้ที่ 100,000 สัญญา จากปัจจุบันมี 20,000 สัญญาแล้ว ด้วยการเพิ่มแบรนด์อีก 1-2 แบรนด์ คาดว่าจะสามารถประกาศได้เร็วๆ นี้ จากเดิมจับมือกับ 3 แบรนด์ชั้นนำ OPPO VIVO และ XIAOMI ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดมือถือรวมราว 47% และการเพิ่ม Shop ณ สิ้นปีที่ 5,000 Shop จากสิ้นเดือน มิ.ย.คาดอยู่ที่ 3,000 Shop
สำหรับเงินที่จะนำมาปล่อยสินเชื่อจะมาจากการบริหารพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) โดยปี 66 มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท และจะลดขนาดพอร์ต C4C ลง จาก Lock Phone ที่มีรายได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเท่าตัว