ซีอีโอ PTTGC ลั่นสานต่อกลยุทธ์ 3 Steps Plus ดันมาบตาพุด Hub อาเซียนหวังโตยั่งยืนหลังปีนี้ทรงตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 18, 2024 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ซีอีโอ PTTGC ลั่นสานต่อกลยุทธ์ 3 Steps Plus ดันมาบตาพุด Hub อาเซียนหวังโตยั่งยืนหลังปีนี้ทรงตัว

นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยวิสัยทัศน์หลังเข้ารับตำแหน่ง สานต่อกลยุทธ์ 3 Steps Plus พร้อมผลักดันมาบตาพุด สู่การเป็น Hub ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value) และคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชูผลิตภัณฑ์ Specialty หนุน EBUTDA สร้างการเติบโตยั่งยืน หลังเผชิญความท้าทายทำให้รายได้ในปีนี้ยังทรงตัวจากปีก่อน

"ก้าวต่อไปในการสร้างความเติบโตที่ยั่งยืนของ GC เราพร้อมสานต่อกลยุทธ์ 3 Steps Plus ประกอบด้วย Step Change - Step Out - Step Up เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันและการเติบโตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเรานำความพร้อมด้านนวัตกรรม ศักยภาพการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพที่เรามีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ มาต่อยอดและตอบสนองแนวโน้มความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ตามเทรนด์โลก"นายณะรงค์ศักดิ์ กล่าว
ซีอีโอ PTTGC ลั่นสานต่อกลยุทธ์ 3 Steps Plus ดันมาบตาพุด Hub อาเซียนหวังโตยั่งยืนหลังปีนี้ทรงตัว

การเดินหน้ากลยุทธ์ 3 Steps Plus จะช่วยรักษาฐานให้แข็งแรง เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้าง Synergy ปรับพอร์ตโฟลิโอ มุ่งสู่กลุ่มธุรกิจ High Value & Low Carbon Business รุกธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ด้วย allnex และ NatureWorks อีกทั้งสร้างโอกาสการเติบโตของมาบตาพุด และพัฒนา Strategic Partnership เพื่อตอบสนองเมกะเทรนด์ของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมทำงานร่วมกับกลุ่ม ปตท. ในโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และต่อยอดเป็นธุรกิจแห่งอนาคต

บริษัทจะผลักดันมาบตาพุดสู่การเป็น Hub ผ่านการลงทุนของบริษัทย่อย Allnex อีกทั้งยังร่วมกับ NatureWorks ผู้ผลิตไบโอพลาสติกประเภทโพลิแลกติกแอซิด (PLA) ระดับโลกสร้างโรงงานผลิต PLA ครบวงจรแห่งใหม่ ที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เป็นเรือธงขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในอนาคต สนับสนุนกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในส่วนของ Non Commodity หรือ Specialty ให้เพิ่มเป็น 30% ในปี 73 ตามเป้าหมาย จากปัจจุบันว 20%

นายณะรงศักดิ์ กล่าวว่า กลยุทธ์ Step Out หรือการสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ โดยกลุ่มธุรกิจ High Value & Low Carbon Business จะมุ่งเน้นการขยายตลาดและสร้างสรรค์เคมีภัณฑ์ผ่าน allnex ที่มีโรงงานและฐานธุรกิจสารเคลือบผิว (Coating Resins) อยู่ 34 แห่งทั่วโลก

สำหรับการพัฒนาฐานการผลิต (Hub) ของ allnex ในทวีปต่างๆ นั้น allnex ประสบความสำเร็จในการพัฒนา China Hub จึงได้นำมาต่อยอดขยายฐานผลิตในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตได้แก่ โรงงาน Mahad รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย และแห่งใหม่ในอนาคต โรงงานมาบตาพุด ประเทศไทย เพื่อเป็น Hub ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ในตลาดเคลือบผิวในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ บรรจุภัณฑ์ โลหะอุตสาหกรรม เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งเคลือบผิวอาคารแบบพิเศษ (Special Decoration)

สำหรับแผนการตั้งโรงงานมาบตาพุด ประเทศไทย ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาและวางแผนว่าจะมีการผลิตผลิตภัณฑ์แบบไหนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะเป็นการต่อยอดธุรกิจผ่าน allnex ตามแนวทางกลยุทธ์การปรับพอร์ตธุรกิจของ GC ให้มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจผลิตภัณฑ์ High Value ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปี 68

การลงทุนดังกล่าวมองเป็นการยกระดับสร้างโอกาสการลงทุนในมาบตาพุด รองรับการขยายตัวการลงทุนและเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และคาดว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีรายได้ประชาชาติ (GDP) เติบโต ที่ 4.6% GC จึงวางแผนสรรหา และพัฒนา Strategic Partnership ดึงดูดการลงทุนธุรกิจ High Value/ Specialty Chemicals สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มจะสร้างฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"ด้วยจุดแข็งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและทำเลที่ตั้งอันเป็นศูนย์กลางการส่งออกสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดโลก วันนี้เราจึงได้เห็นแนวโน้มความสนใจการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ทันสมัยเกิดขึ้นมากมายในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ อัตราการใช้เคมีภัณฑ์ต่อประชากรยังมีโอกาสเติบโตอีกมากเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ ซึ่ง GC มีศักยภาพและความพร้อมตอบสนองความต้องการและสามารถร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมได้หลากหลาย จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของ GC"

ด้านความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานผลิต PLA ครบวงจรแห่งใหม่ (PTTGC ถือหุ้น 50% ร่วมกับ Cargill) คาดแล้วเสร็จในปลายปี 68 และบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้นเข้ามาได้ในปี 69 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็น Bio Complex แห่งแรกของประเทศไทย โดยใช้น้ำตาลจากอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อผลิต Lactic Acid ซึ่งนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต PLA มีกำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้าน Bio และ Green ของประเทศ

กลยุทธ์ Step Up หรือการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ GC สานต่อแนวทางการบูรณาการหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้กรอบของ ESG ( Environmental - Social - Governance สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล) พร้อมเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Target) ภายในปี 93 แนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การทำงานร่วมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ทั้งในการศึกษาเรื่อง Carbon Capture Technology ผ่านการลงทุนใน Corporate Venture Capital (CVC) และการศึกษาโอกาสในการนำไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ (Blue/Green Hydrogen) ไปใช้และพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจแห่งอนาคต

กลยุทธ์ Step Change จะเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยง Value Chain ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด รวมถึงสามารถรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าสูงที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ในอนาคตได้เป็นอย่างดี นับเป็นการบริหารการลงทุนอย่างครบวงจรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

*ประคองรายได้ปีนี้ทรงตัวรับราคาน้ำมันย่อแต่ยังได้อานิสงส์กำลังผลิตเพิ่ม เดินหน้าลดภาระดอกเบี้ย

ซีอีโอ PTTGC คาดว่า รายได้ปีนี้น่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 6.3 แสนล้านบาท ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลง โดยปีนี้คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 80 เหรียญ/บาร์เรล แต่ยังได้แรงหนุนจากกำลังการผลิตที่สูงขึ้น เห็นได้จากปริมาณการขายของ Allnex ในไตรมาสแรกที่เติบโตแล้ว 10%

ส่วนไตรมาส 2/67 คาดว่าภาพรวมธุรกิจของ Allnex ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่ธุรกิจโอเลฟินส์ยังมีความท้าทาย

ในปีนี้บริษัทยังมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะกำลังการผลิตล้นตลาด จากผู้ผลิตในต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำ, เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวช้าจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์และราคาพลังงานสูง, ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยส่งผลต่อการเติบโตของดีมานด์, การแข่งขันจากผู้เล่นที่ได้เปรียบทางวัตถุดิบ, ความซับซ้อนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อ Supply Chain และการลงทุน

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งบริษัทฯ ลดภาระดอกเบี้ยให้ได้ 1,000 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ ผ่านการทยอยซื้อหุ้นกู้คืน (Bond Buy Back) ขณะที่บริษัทเตรียมบันทึกกำไรพิเศษจากการขายคืนหุ้นกู้มูลค่า 750 ล้านบาทในไตรมาส 2 นี้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ