ตลท.เริ่มใช้ Uptick ตั้งแต่ 1 ก.ค. เลื่อน Circuit Breaker-Auto Halt รายหุ้นออกไปเล็กน้อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 18, 2024 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เตรียมเริ่มใช้มาตรการการเพิ่ม Uptick (รายหลักทรัพย์) ในวันที่ 1 ก.ค. 67 โดยให้ขายชอร์ต (ทุกหลักทรัพย์) ได้ที่ราคาสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) จากปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-plus Tick) พร้อมการทบทวนหลักทรัพย์ที่ Short Selling ได้ เริ่มวันที่ 21 มิ.ย.นี้ โดยกรณีหุ้นที่ไม่ได้อยู่ใน SET 100 เพิ่มมาร์เก็ตแคป เป็น 7.5 พันล้านบาท จากเดิมที่ 5 พันล้านบาท

ขณะเดียวกันยังเร่งการใช้มาตรการควบคุมพฤติกรรมการซื้อขายบางมาตรการให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดเวลาขั้นต่ำของออเดอร์ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) ซึ่งจะเริ่มในไตรมาส 3/67 โดยกำหนดให้ Minimum Resting Time ของคำสั่งก่อนที่จะสามารถแก้ไข/ยกเลิด ไว่ที่ 250 milliseconds หากคำสั่งที่มีการแก้ไข/ยกเลิดก่อนเวลาดังกล่าวจะถูก reject โดยระบบ

นอกจากนี้ยังมีบางมาตรการที่เลื่อนการบังคับใช้ออกไป เช่น การเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้น (Dynamic Price Band) โดยกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของราคา (ที่แคบกว่า Celling & Floor) เอาไว้ เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนเกินไป (Phase 1 - เฉพาะในส่วนหุ้นแม่) ซึ่งเลื่อนการบังคับใช้มาเป็นไตรมาส 3/67 จากเดิมวางแผนไว้ในไตรมาส 2/67 แต่ได้เพิ่มเติมมาตรการกำหนดให้ใช้กับหลักทรัพย์ที่มีหุ้นนั้นเป็น Underlying ด้วย (Phase 2) ซึ่งในส่วนนี้จะเริ่มบังคับใช้ในไตรมาส 1/68 และมาตรการ Auto Halt รายหุ้น กรณีจำนวนหุ้นรวมในคำสั่งมากกว่าจำนวนหุ้นที่กำหนด เพื่อป้องกันการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายที่อาจผิดปกติ ได้เลื่อนบังคับใช้มาเป็นไตรมาส 1/68 จากเดิมที่จะเริ่มไตรมาส 4/67

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลท. เปิดเผยว่า มาตรการที่ประกาศออกมาเป็นมาตรการระยะยาว แต่จะมีการทบทวนประสิทธิภาพอย่างน้อยทุก 3-6 เดือน โดยมีตัวชี้วัด เช่น ปริมาณการซื้อขาย การปรับตัวของดัชนี SET โดย ตลท.คาดหวังปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท/วัน ซึ่งเป็นระดับที่บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) สามารถมีกำไรได้

สำหรับความพร้อมของสมาชิกในการใช้มาตรการ Uptick นั้น นายรองรักษ์ กล่าวว่า โบรกเกอร์รายใหญ่ส่วนใหญ่มีความพร้อม แต่ก็มีบางรายที่ไม่พร้อมก็ต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการ อย่างไรก็ตาม มองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่สำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สาธารณะกำลังเฝ้ารอ และมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน หากดำเนินการได้ต้องดำเนินการโดยเร็ว

"เราก็หวังว่ามาตรการที่ออกมาจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน อย่างก็ตามก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยถึงแม้จะดำเนินมาตรการต่างๆ ซึ่งหาก Sentiment ตลาดภาพรวมทั้งความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ หรือประเด็นการเมือง ซึ่งหากประเด็นต่างๆมีความชัดเจนผู้ลงทุนต่างประเทศจะมีความมั่นใจในการลงทุน"

ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรการดังกล่าวอาจทำให้ปริมาณการซื้อขายน้อยลงบ้างในระยะสั้น เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นนักลงทุนต่างชาติกว่า 40-50% รายย่อย 30% และสถาบัน 20% แม้นักลงทุนที่มีการ Short Sell มากที่สุด คือ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ จะได้รับผลกระทยจากมาตรการ Uptick ที่ทำให้การ Short Sell ยากขึ้นบ้าง แต่จะทำให้รายย่อยมีความมั่นใจกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ