CIVIL กลับเข้าโหมดโตวางเป้า 3 ปีดันรายได้พุ่งเฉลี่ยปีละ 38% วิ่งเข้าเป้า 9 พันล้าน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 20, 2024 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

CIVIL กลับเข้าโหมดโตวางเป้า 3 ปีดันรายได้พุ่งเฉลี่ยปีละ 38% วิ่งเข้าเป้า 9 พันล้าน

นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง (CIVIL) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายการเติบโต 3 ปีข้างหน้า (ปี 67-69 ) เติบโตเฉลี่ย 38% ต่อปี สู่เป้าหมายรายได้ 9,000 ล้านบาทในปี 69 หลังจากมั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะกลับมาเติบโต ด้วยการมุ่งเน้นการขยายสัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับงานก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ จากปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 5% พยายามมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มสัดส่วนให้เป็น 20% ภายในปี 73

สำหรับทิศทางการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลัง 67 บริษัทตั้งเป้าหมายเติบโตต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการเข้ารับงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทั้งภาครัฐและเอกชน จากการที่รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้กับบริษัทมากขึ้นในการเข้าประมูลงาน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ อาทิ งานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่, งานประเภทรถไฟความเร็วสูง และ งานถนน มูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท

CIVIL กลับเข้าโหมดโตวางเป้า 3 ปีดันรายได้พุ่งเฉลี่ยปีละ 38% วิ่งเข้าเป้า 9 พันล้าน

ขณะที่บริษัทอยู่ระหว่างรอลงนามสัญญาจำนวน 8 โครงการ มูลค่ารวมราว 10,000 ล้านบาท ได้แก่ งานถนน และ งานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยงานทั้งหมดที่คาดว่าได้รับจะส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) ของบริษัทในช่วงสิ้นปี 2567 เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 30,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมี Backlog จำนวน 22,538 ล้านบาท

นายปิยะดิษฐ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังมั่นใจว่าการรับรู้รายได้ในปี 67 จะเป็นไปตามเป้าหมาย 6,500 ล้านบาท จากแผนการดำเนินงานใน 2 ส่วน ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับงานก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจหลักบริษัทมีการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี อาทิ โปรแกรม Power BI (Business Intelligence), HR Tech และ ระบบ RPA (Robotic Process Automation) ซึ่งปัจจุบันดำเนินการเต็มประสิทธิภาพ สามารถบริหารขั้นตอนงานก่อสร้างด้วยความรวดเร็ว และส่งมอบงานได้ตามกำหนดเวลา โดยบริษัทมีแผนส่งมอบงานในมือจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์, โครงการพัฒนาคูน้ำวิภาวดี ตอน 2, โครงการก่อสร้างสนามบินลำปาง สนามบินหัวหิน และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่บางสะพานน้อย-ชุมพร มูลค่ารวม 3,300 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้งานก่อสร้างแบ่งเป็น งานก่อสร้างทางรถไฟและทางรถไฟความเร็วสูง 46%, งานก่อสร้างทางหลวง ทางต่างระดับ และทางพิเศษ 33.9% และ งานประเภทอื่นๆ 20.1%อาทิ คลองระบายน้ำ งานก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ และ สนามบิน

ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับงานก่อสร้าง บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ ธุรกิจยานยนต์เชิงพาณิชย์ (EV) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสการเติบโตในส่วนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรก่อสร้างให้เช่า รวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจวัสดุก่อสร้างของบริษัท ซึ่งทั้งหมดจะเริ่มเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 เป็นต้นไป

"ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ผ่านมาถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ทำให้ CIVIL มีความแตกต่างคือการรักษาต้นทุนการก่อสร้างให้อยู่ในระดับที่ดี และ การมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งสามารถดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานทั้งหมด อีกทั้งการมุ่งเน้นพัฒนาประสิทธิภาพงานรอบด้าน ทั้งในแง่การบริหารโครงการให้เป็นไปตามกำหนดเวลาภายใต้ข้อจำกัดด้านพื้นที่ก่อสร้างรวมไปถึงการมี Backlog ที่สร้างการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทยังคงเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถการเข้าประมูลงานที่มีศักยภาพ ด้วยความพร้อมในการแข่งขันทุกโครงการ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีความชัดเจนในด้านงบประมาณและโครงการที่จะเริ่มเปิดประมูลในช่วงครึ่งปีหลังมากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทในการสร้างการเติบโตทั้งรายได้ และความสามารถในการทำกำไรให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้"

นายปิยะดิษฐ์ กล่าวถึงประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันว่า หากปรับขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศจริงอาจกระทบในหลายภาคส่วนโดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้าง แม้ว่าขณะนี้บริษัทมีการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่บริษัทได้เตรียมความพร้อม โดยพยายามลดจำนวนแรงงานในงานประเภทที่สามารถลดได้ รวมทั้งการใช้ระบบเทคโนโลยีหรือ Robotic เข้ามาช่วย โดยต้นทุนค่าแรงงานของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 15% ขึ้นอยู่กับชนิดของงาน ซึ่งปัจจุบันบริษัทรับงานโครงสร้าง ต้นทุนดังกล่าวก็ค่อยๆ ลดลง ขณะที่แนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างมองว่ายังทรงตัว

บริษัทยังมุ่งการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ จากในอดีตที่ส่วนใหญ่จะรับงานโครงการต่าง ๆ จากภาครัฐทั่วประเทศ โดยขยายมารับงานเอกชนมากขึ้นรวมทั้งโครงการ PPP ขณะที่ขนาดการรับงานปัจจุบันสามารถรับงานโครงการ Mega Project ได้แล้วแม้มาร์จิ้นจะน้อย แต่สามารถขยายโอกาสในการดำเนินงานที่หลากหลาย และมีศักยภาพในการร่วมมือกับพันธมิตร รวมทั้งรับงานโครงการขนาดเล็กน้อยกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งมีมาร์จิ้นดีกว่า เพื่อทำให้การรับงานมีความสมดุลและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และพยายามขยายธุรกิจไปกลุ่ม Non-constructure มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ