นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่บมจ. ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) ผู้ให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือทางด่วนโทล์ลเวย์ ประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางทางด่วนโทล์ลเวย์ โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทาง ช่วงดินแดง - ดอนเมือง จากปัจจุบัน 80 บาท ขึ้นเป็น 90 บาท และช่วงดอนเมือง - อนุสรณ์สถาน จาก 35 บาท ขึ้นเป็น 40 บาทนั้น
จากกรณีดังกล่าว กระทรวงคมนาคม ได้ห่วงใยต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน ดังนั้น จึงได้สั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะเจ้าของสัมปทาน และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายของกระทรวงคมนาคม ไปเร่งพิจารณาแนวทางและความเป็นไปได้ในการชะลอการขึ้นอัตราค่าผ่านทางดังกล่าว รวมถึงอาจพิจารณาให้ลดค่าผ่านทางอีกด้วย
เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และลดค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งการใช้ทางด่วนโทลเวย์จากดินแดงไปถึงอนุสรณ์สถาน ปัจจุบันต้องเสียค่าผ่านทางในอัตราที่สูงถึง 115 บาท หากปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญาในช่วงปลายปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 130 บาท และก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน จะมีการปรับขึ้นอีกครั้งเป็น 145 บาท ทั้งนี้ หากได้ข้อสรุปหรือมีความคืบหน้าอย่างไรจะรายงานให้ทราบในทันทีต่อไป
"ผมยืนยันว่า ในยุคที่ผมเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบาย ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ มุ่งเน้นความสำคัญและประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และประเทศชาติ เป็นหลัก โดยเฉพาะการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน และเพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยอยู่ดีกินดี มีความสุขตลอดไป" สุริยะ กล่าว
สำหรับสัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลเวย์ DMT ได้รับสัมปทานจากกรมทางหลวง (ทล.) ในปี 2532 โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนและกู้เงินมาลงทุนทั้งหมด เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนั้น โดยเอกชนได้รับสิทธิเก็บค่าผ่านทางตามสัญญา ทั้งนี้ ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญาทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งเป็นที่มาของค่าผ่านทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จากการแก้ไขสัญญา ครั้งสุดท้ายจะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางอีก 2 ครั้ง คือ ในเดือนธันวาคม 2567 และธันวาคม 2572 ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577