ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต และโปรแกรมเทรดดิ้งต่อเนื่อง ได้แก่ คุณสมบัติของหุ้นที่ขายชอร์ตได้ ราคาในการขายชอร์ต การขึ้นทะเบียนผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งซื้อขายด้วย HFT และการเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม เพื่อยกระดับการกำกับดูแลการซื้อขาย และเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุน เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.67 เป็นต้นไป
มาตรการกำกับดูแลการขายชอร์ต
1) ปรับปรุงคุณสมบัติของหุ้นในกลุ่ม non-SET100 ที่สามารถขายชอร์ตได้ ให้เป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูงขึ้น โดยกำหนดให้หุ้นที่ขายชอร์ตได้ ต้องมีขนาด Market Capitalization เฉลี่ย 3 เดือน ไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาท และมีค่าเฉลี่ยของปริมาณการซื้อขายหมุนเวียนต่อเดือน (Monthly Turnover) ในรอบ 12 เดือน ไม่น้อยกว่า 2% รวมทั้งมีการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อย (Free Float) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้ว ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศรายชื่อกลุ่มหลักทรัพย์ที่ขายชอร์ตได้ตามเกณฑ์ใหม่ผ่านทางเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
2) ปรับปรุงเกณฑ์ราคาขายชอร์ต โดยกำหนดให้ราคาเสนอขายชอร์ตต้องเป็นราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) จากเดิมที่ให้เสนอขายชอร์ตได้ในราคาที่เท่ากับหรือสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Zero-Plus Tick)
มาตรการกำกับดูแลโปรแกรมเทรดดิ้ง
3) กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความเร็วสูง (High Frequency Trading: HFT) ก่อนเริ่มใช้งาน เพื่อยกระดับการกำกับดูแลผู้ลงทุนกลุ่มดังกล่าวให้เข้มงวดขึ้น
การเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม
4) ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสมให้แก่บริษัทสมาชิกทุกรายทราบ เพื่อให้บริษัทสมาชิกสามารถกำกับดูแลผู้ลงทุนกลุ่มดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ มาตรการข้างต้นจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป
ขณะที่ ตลท.ได้ประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่ขายชอร์ตได้ 260 หลักทรัพย์ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม 2567