นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ถิรไทย (TRT) เปิดเผยว่า ในปี 67 บริษัทประเมินว่าจะสร้างรายได้ประมาณ 2,783 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจาก 2 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) ซึ่งมีลูกค้าหลักเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น การไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) รวมถึงบริษัทเอกชนทั่วไป คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 2,130 ล้านบาท รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก 340 ล้านบาท และรายได้จากฝั่งธุรกิจการให้บริการ 120 ล้านบาท ส่งผลให้การรับรู้รายได้ฝั่งหม้อแปลงไฟฟ้าราว 2,590 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่หม้อแปลง หรือ Non-Transformer เช่น แบตเตอรี่ลิเธียม, รถกระเช้า, รถเครน, และตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้าคาดว่าจะทำรายได้ 193 ล้านบาท
นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของตลาดต่างประเทศนั้น TRT ได้ส่งออกไปยัง Southeast Asia เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือ ศรีลังกา ในระยะยาวเรามีแผนส่งออกไปประเทศในยุโรป และสหรัฐ โดยเฉพาะในสหรัฐ ขณะนี้ได้เร่งปรับปรุงไฟฟ้าในประเทศ และมีเร่งนำเข้าหม้อแปลงจากต่างประเทศ ทำให้บริษัทได้ประโยชน์ คาดว่าตลาดส่งออกจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% ตั้งแต่ปี 68 เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน ยอดขายรอรับรู้รายได้จาก Backlog ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 67 อยู่ที่ 1,770 ล้าน ไฮไลต์สำคัญ คือ งานหม้อแปลงขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างผลิตให้กับ EGAT นอกจากนี้บริษัทมีงานประมูลและเสนอราคาทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 15,271 ล้านบาท ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จสร้างเป็นยอดขายและรายได้ประมาณ 20%
นายกานต์ วงษ์ปาน เลขานุการบริษัท และผู้จัดการฝ่ายการเงินบัญชีและเทคโนโลยีสารสนเทศ TRT กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 1/2567 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.67 บริษัทมีกำไรสุทธิสำหรับผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 96.28 ล้านบาท พลิกจากงวดเดียวกันของปี 66 มีผลขาดทุนสุทธิ 35.16 ล้านบาท
ปัจจัยบวกที่ทำให้บริษัทมีกำไร มาจากรายได้จากการขาย 750.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 395.10 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 111.10% เนื่องจากบริษัทส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าภาครัฐ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการบริการ 46.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.52 ล้านบาท คิดเป็น 36.38% เนื่องจากเราได้มุ่งเน้นงานบริการหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
สำหรับกำไรขั้นต้นจากการขาย 29.79% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีอัตรากำไร ขั้นต้นเท่ากับ 11.66% เนื่องจากในปี 67 สถานการณ์ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าดีขึ้น ส่วนกำไรขั้นต้นจากการบริการ 50.34% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 34.62% เนื่องจากบริษัทมีงานซ่อมหม้อแปลงเพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนงานซ่อมหม้อแปลงต่อหน่วยลดลง
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขาย 15.99 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2.33 ล้านบาท คิดเป็น 12.71% และ ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 55.69 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 8.72 ล้านบาท คิดเป็น 13.53% ประกอบกับต้นทุนทางการเงิน 23.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.53 ล้านบาท คิดเป็น 69.57% ด้วยเช่นกัน