น.ส.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) เปิดวิสัยทัศน์ "เสริมศักยภาพ เพิ่มโอกาส เพื่อการเติบโตของ EGCO Group อย่างยั่งยืน" เดินหน้าสานต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจ "Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth" ผลักดัน 3 เป้าหมายสำคัญ เพิ่มกำลังผลิตใหม่ควบคู่กับการบริหาร Portfolio ให้มีประสิทธิภาพ สร้างรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม ตามกรอบ ESG เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้ผู้มีส่วนได้เสียรอบด้าน
การดำเนินธุรกิจ Cleaner จะมุ่งเน้นปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานหลักให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ใช้ไฮโดรเจนหรือแอมโมนียเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า ศึกษาและใช้เทคโนโลยี CCS หรือ CCUS เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดใน Portfolio เพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 73
Smarter ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า โดยลงทุนและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊ซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง พร้อมกับการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องที่เติบโตสูง เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยต้องมี Stronger ด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรเพื่อขยายและต่อยอดการลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ
*มั่นใจปีนี้พลิกเป็นกำไรสุทธิ ไร้ผลกระทบโครงการ Yunlin
น.ส.จิราพร กล่าวว่า บริษัทมั่นใจง่าผลประกอบการปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้แน่นอน จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 8,384 ล้านบาท เนื่องจากจะไม่มีผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ในไต้หวันล่าช้าแล้ว หลังจากเร่งรัดการก่อสร้าง ปัจจุบันติดตั้งเสากังหัน (Monopiles) แล้วเสร็จรวม 74 ต้น และติดตั้งกังหันลม (Wind Turbine Generators -WTGs) แล้วเสร็จไป 50 ต้น เชื่อมั่นว่าจะสามารถก่อสร้างเสร็จครบ 80 ต้น ผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่ 640 เมกะวัตต์ภายในปี 67 ตามแผนงานที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ EGCO จะรับรู้รายได้เต็มปีจากโครงการที่เข้าลงทุนในปี 66 ได้แก่ โรงไฟฟ้า RISEC กลุ่มโรงไฟฟ้า Compass, บริษัทโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค CDI รวมถึงรับรู้รายได้เพิ่มจากการ COD โรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย และรับรู้รายได้การขายโครงการพลังงานหมุนเวียนภายใต้ APEX
รวมทั้งการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) จำนวน 7 โครงการซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จภายในปี 67, ผลดำเนินงานโรงไฟฟ้า Paju ES มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง, ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในสหรัฐจากสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น และปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว โดยเฉพาะน้ำเทิน 1 และน้ำเทิน 2 ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน
ส่วนการเจรจาสัญญาใหม่ของโรงไฟฟ้า Quezon ในฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
*เก็ง Q2/67 โตกว่า Q1/67 จากโรงไฟฟ้าลาวปริมาณน้ำมากขึ้น-สหรัฐค่าไฟเพิ่มหนุน
นางจิราพร กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/67 บริษัทคาดว่าจะเติบโตดีกว่าไตรมาส 1/67 เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจากเป็นช่วงหน้าฝน, โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในสหรัฐค่าไฟสูงขึ้นตามต้นทุนราคาก๊าซ ส่วนโรงไฟฟ้าในไทยยังคงดำเนินการตามปกติ น่าจะสามารถชดเชยผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า Paju Es ในเกาหลีใต้ที่อยู่ในช่วงโลว์ซีซั่นได้
อีกทั้งในช่วงนี้บริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีนัยสำคัญอีกแล้ว หลังจากได้รปิดความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงินด้วยการทำ Hedging
*เล็งปิดดีล M&A โรงไฟฟ้า 2-3 โครงการ หนุนกำลังการผลิตเพิ่ม 1,000 MWe ตามเป้า
ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทจะเร่งปิดดีลเจรจาซื้อกิจการโครงการโรงไฟฟ้า (M&A) ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable) และ Conventional ราว 2-3 โครงการ ซึ่งจะเป็นโครงการที่สามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันที และจะหนุนให้ปีนี้บริษัทมีกำลังการผลิตใหม่ตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเข้ามา 1,000 เมกะวัตต์ตามเป้าหมายที่วางไว้ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตจากโครงการที่อยู่ใน Pipeline ที่จะ COD ในปีนี้ จำนวน 370 เมกะวัตต์แล้ว ส่งผลให้สิ้นปี 67 กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของ EGCO จะเพิ่มเป็นราว 8,000 เมกะวัตต์ จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 7,003 เมกะวัตต์
สำหรับความคืบหน้าโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยการลงทุนใน CDI ในอินโดนีเซีย มีความร่วมมือที่ก้าวหน้า โดยมีแผนพัฒนาโครงการเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและสนับสนุนพันธกิจในการพัฒนาพลังงานสีเขียว ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ และโครงการแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา กำลังผลิตรวม 35 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 3/67 และจะทยอยแล้วเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์บางส่วนภายในปี 68
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการแสวงหาโอกาสในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังดาในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มเติม ตลอดจนศึกษาเพื่อเตรียมขยายกำลังผลิตของโรงไฟฟ้า KPE เพื่อรองรับโรงงานแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรม Krakatau Posco
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง (ERIE) มีพื้นที่ทั้งหมด 609 ไร่ และมีพื้นที่สำหรับขายและให้เช่า 421 ไร่ มีกำหนดเปิดให้จองและเปิดดำเนินการเฟส 1 ไตรมาส 3/68 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าเข้ามาเช่าใช้พื้นที่ในนิคมฯ เบื้องต้นเป็นกลุ่มลูกค้าจากจีน ที่สนใจขยายฐานการผลิตและประกอบรถ EV รวมถึง Data center เป็นต้น
บริษัทวางงบลงทุนทั้งปีนี้ไว้ที่ 30,000 ล้านบาท ใช้ไปแล้วราว 15,000-16,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินที่เหลือจะใช้รองรับการ M&A แต่หากไม่พอก็สามารถใช้กระแสเงินสดในมือได้ รวมถึงมีแผนออกหุ้นกู้เพิ่มเติม เพราะผู้ถือหุ้นอนุมัติวงเงินไว้แล้ว 30,000 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาออกไปเพียง 7,000 ล้านบาท ทำให้ยังมีวงเงินเหลืออยู่
นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสในการใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้สถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทฯ มี D/E อยู่ที่ 1.4 เท่า ยังมีความสามารถในการกู้ได้อีกหลายหมื่นล้านบาท
*ลั่นพร้อมชิงทุกสัญญาขายไฟฟ้า-ศึกษาโอกาสทำ Direct PPA
นางจิราพร กล่าวอีกว่า บริษัทมีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศ กำลังผลิตประมาณ 3,600 เมกะวัตต์ ส่วนขยาย ที่ภาครัฐจะเปิดเพิ่มเติมในรอบที่ 2 คาดว่าในรอบนี้จะได้รับการคัดเลือก หลังจากรอบแรกสอบไม่ผ่าน รวมถึงการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าก๊ซธรรมชาติภายใต้ร่างแผน PDP 2024
นอกจากนั้น บริษัทตลอดจนศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขายไฟฟ้าตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ในอนาคตด้วย