ThaiBMA คาด H2/67 เอกชนออกหุ้นกู้กว่า 4.4 แสนลบ.ผิดนัดลดลง จับตา Flow จ่อไหลออกกว่าแสนล้าน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 2, 2024 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ThaiBMA คาด H2/67 เอกชนออกหุ้นกู้กว่า 4.4 แสนลบ.ผิดนัดลดลง จับตา Flow จ่อไหลออกกว่าแสนล้าน

นางสาวอริยา ตีรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) คาดว่า ในปี 67 หุ้นกู้เอกชนออกใหม่จะเป็นไปตามคาดการณ์ 9 แสน-1 ล้านล้านบาท จากในปี 66 มูลค่าหุ้นกู้ระยะยาว 1,018,690 ล้านบาท โดยในครึ่งแรกปี 67 มูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวเท่ากับ 494,371 ล้านบาท โดย 95% เป็นหุ้นกู้ Investment Grade และคาดว่าครึ่งหลังปี 67 จะมีมูลค่าหุ้นกู้ใหม่ใกล้เคียงมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนดที่ 442,910 ล้านบาท ซึ่งไตรมาส 3/67 มีหุ้นกู้ครบกำหนด 231,803 ล้านบาท และไตรมาส 4/67 มีหุ้นกู้ครบกำหนด 211,106 ล้านบาท โดย 89% อยู่ในกลุ่ม Investment Grade

ThaiBMA คาด H2/67 เอกชนออกหุ้นกู้กว่า 4.4 แสนลบ.ผิดนัดลดลง จับตา Flow จ่อไหลออกกว่าแสนล้าน
"คาดทั้งปี มูลค่าหุ้นกู้ที่จะออกในปีนี้น่าจะเป็นไปตามคาด ถ้าดอกเบี้ยยังสูงอยู่ คาดว่าเอกชนจะออกหุ้นกู้ไม่มาก บริษัทใหญ่ๆเขามีช่องทางอื่นก็ไม่ออกหุ้นกู้เพิ่มจากที่ต้อง Rollover"

ในช่วงครึ่งปีแรก หุ้นกู้กลุ่ม Investment Grade มีมูลค่าการออกใกล้เคียงกับมูลค่าการครบกำหนด อายุเฉลี่ย 4.4 ปี ขณะที่กลุ่ม High yield ออกเป็นหุ้นกู้มีประกันในสัดส่วนสูงขึ้น คิดเป็น 87% ในช่วงครึ่งปีแรก อายุ 2.2 ปี เทียบกับปี 66 มีสัดส่วน 48% และ 43% ในปี 65

ส่วนหุ้นกู้ผิดนัดชำระในช่วงครึ่งแรกปี 67 มี 3 บริษัท รวม 1,101 ล้านบาท ได้แก่ หุ้นกู้บริษัท พีพี ฮอลิเดย์ จำกัด (PPH) (non-rated) 1 รุ่น มูลค่า 392 ล้านบาท ในเดือนม.ค., หุ้นกู้บริษัท ซิซ่า กรุ๊ป จำกัด (CISSA) (non-rated) 1 รุ่น มูลค่า 217 ล้านบาทในเดือน ก.พ. และ หุ้นกู้บริษัท ไอริส กรุ๊ป (IRIS) (non-rated) 2 รุ่น มูลค่ารวม 492 ล้านบาท เทียบกับปี 66 ที่มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระ 22 รุ่น จากผู้ออก 5 ราย มูลค่ารวม 16,363 ล้านบาท

สำหรับหุ้นกู้ที่เลื่อนกำหนดชำระในครึ่งแรกปี 67 มูลค่ารวม 18,876 ล้านบาท โดยมีผู้ออกรายใหม่ในกลุ่มหุ้นกู้ที่เลื่อนกำหนดชำระ ในครึ่งแรกปีนี้ จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ ม.ค. หุ้นกุ้บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ (ITD)(BB+) 5 รุ่น มูลค่า 14,455 ล้านบาท, ก.พ. หุ้นกู้ของ บมจ.โกลบอล คอนซูเมอร์ (GLOCON) (non-rated) 1 รุ่น มุลค่า 330 ล้านาท, มี.ค.หุ้นกู้บมจ.โปรเอ็น คอร์ป (PROEN) (non-rated) 1 รุ่น 500 ล้านบาท, พ.ค. หุ้นกู้ของบมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) (B+) 1 รุ่น 389 ล้านบาท และ มิ.ย. หุ้นกู้ของบมจ.เอเซีย พรีซิชั่น (APCS) (non-rated) 1 รุ่น 385 ล้านบาท

นอกจากนี้มีอีก 4 บริษัทที่ยังเลื่อนการชำระออกไป ได้แก่ ม.ค.หุ้นกู้บบริษัท สยามนุวัตร จำกัด (SNW) (non-rated) 3 รุ่น 520 ล้านบาท , มี.ค. หุ้นกู้ บมจ.เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล (JCK) (non-rated) 1 รุ่น 280 ล้านบาท , หุ้นกู้ บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ (CGD) (non-rated) 2 รุ่น 1,672 ล้านบาท, พ.ค. หุ้นกู้บริษัท เจซี เควิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (JCKD) (non-rated) 1 รุ่น 375 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 66 มีหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระ 37 รุ่น จากผู้ออก 14 ราย มูลค่ารวม 12,443 ล้านบาท

"เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามี Default แต่ถ้าเทียบแล้วปีนี้ดูแนวโน้มดีขึ้น ส่วนที่เลื่อนชำระ เท่าที่ติดตามดุ เขาจ่ายได้ตามที่เลื่อน ทุกงวดจ่ายดอกเบี้ย บางรายก็ทยอยคืนเงินต้น แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่นักลงทุนไม่เชื่อใจเขาก็มีสิทธิไม่อนุมัติ"

อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีหุ้นกู้ Default มากน้อยแค่ไหน แต่ตลาดก็จะระมัดระวังมากขึ้น นักลงทุนรอบคอบการลงทุนมากขึ้น บริษัทก็ต้องหาช่องทางอื่นในการระดมทุน ขณะที่เห็นว่าหุ้นกู้กลุ่มที่มีเรทติ้ง BBB จะขายให้กับนักลงทุนทั่วไปมากขึ้นส่วนนักลงทุนสถาบันจะระมัดระวังมากขึ้น

ทั้งนี้ ThaiBMA ก็จับตากลุ่มบริษัทที่มีกระแสข่าวมีปัญหาสภาพคล่องหรือสถานะการเงินไม่ดี อย่าง บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ก็อยู่ใน Watch List ที่เราต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด

ส่วนบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในวันที่ 15 ส.ค.67 มูลค่า 1,500 ล้านบาท ทั้งนี้ EA ออกหุ้นกู้ทั้งหมด 16 รุ่น รวมมูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท

*คาด Flow ไหลออกตราสารหนี้ไทย 1.2 แสนลบ.ช่วง 10 เดือนหลังถูกปรับลดน้ำหนัก

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ณ สิ้นไตรมาส 2/67 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างเท่ากับ 17 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.7% จากสิ้นปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นหลัก

ขณะที่กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ของนักลงทุนต่างชาติในครึ่งแรกปี 67 เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยทั้งในไตรมาส 1 และ 2 รวมเป็นมูลค่าการขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 66,514 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด

ผนวกกับการที่พันธบัตรรัฐบาลของอินเดียถูกรวมในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ของ J.P. Morgan (GBI-EM) ที่จะเพิ่มน้ำหนักขึ้นเดือนละ 1% เป็นเวลา 10 เดือน (มิ.ย.67-มี.ค.68) จนมีน้ำหนักรวม 10% จะส่งผลให้ตราสารหนี้ไทยมีสัดส่วนในดัชนีลดลง JP Morgan คาดไทยจะถูกปรับลดน้ำหนักประมาณ 1.60% โดยน่าจะมี Fund Flow ไหลออกจากตราสารหนี้ไทยราว 3,200 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน นายสมจินต์ มองว่าประเด็นนี้จะมีผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทยบ้าง แต่ไม่มีความผันผวนรุนแรง

โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปี 67 นักลงทุนต่างชาติมีการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 8.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.1% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย อายุคงเหลือของตราสารหนี้ไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองมีอายุเฉลี่ย 9.0 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.6 ปี เมื่อสิ้นปี 66

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ณ สิ้นไตรมาส 2/67 ค่อนข้างทรงตัวจากปลายปี 66 สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คงตัวอยู่ที่ 2.50% ตั้งแต่การประชุม กนง. รอบเดือน ก.ย.66 โดย Bond yield รุ่นอายุ 2 ปี และ 5 ปี ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1 bps. และ 2 bps. ในขณะที่ Bond yield 10 ปี ปรับตัวลงเล็กน้อย 2 bps. จากสิ้นปี 66 มาอยู่ที่ 2.35% 2.47% และ 2.68% ณ สิ้นไตรมาส 2/67 ตามลำดับ

เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) รุ่นอายุ 5 ปี ในช่วงครึ่งแรกปี 67 ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA, AA และ A ค่อนข้างทรงตัวในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หากแต่หุ้นกู้ BBB+ และ BBB มีอัตราผลตอบแทนที่ปรับตัวสูงขึ้นราว 24-32 bps. จากสิ้นปี 66 สะท้อนถึงส่วนชดเชยความเสี่ยง (Credit spread) ที่สูงขึ้นจากการที่ผู้ลงทุนมีความระมัดระวังการลงทุนหุ้นกู้กลุ่มดังกกล่าวมากขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/67 หุ้นกู้กลุ่ม AAA, AA, A, BBB+ และ BBB มีอัตราผลตอบแทนเท่ากับ 3.15%, 3.26%, 3.55%, 4.76% และ 5.73% ตามลำดับ

กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA ได้กล่าวถึงผลสำรวจผู้ร่วมตลาดเกี่ยวกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในปี 67 พบว่าส่วนใหญ่คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในปี 67 โดยมี 43% มองโอกาส กนง.จะลดดอกเบี้ยลงในรอบเดือน ธ.ค.ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี

สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าในปี 67 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี จะขยับตัวลงเล็กน้อยเฉลี่ยราว 5 bps. ในครึ่งปีหลัง ปัจจัยหลักที่มีผลต่อ Bond yield ในอนาคตคือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ