KBank Private Banking แนะจัดพอร์ตกระจายเสี่ยง รับมือดอกเบี้ยขาลง จับตาสงครามการค้าสหรัฐ-จีนกลับมา

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 3, 2024 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มร.โฮมิน ลี Senior Asia Macro Strategist, Lombard Odier (Singapore) เปิดเผยมุมมองเศรษฐกิจโลกปี 67 ดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 66 สะท้อนจากปริมาณการค้าโลกและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment) ในภาพรวมฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอลงแบบ Soft landing และไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จึงประเมินว่าตลาดหุ้นมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นต่อได้ โดยแนะนำกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ขณะที่ตลาดหุ้นแนะนำกระจายสัดส่วนการลงทุนหุ้นสหรัฐ 7% เวียดนาม 7% ยุโรป 5% และอินเดีย 4%

ทั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตชิปที่กำลังเป็นความต้องการจากทั่วโลก ด้านตลาดแรงงานเริ่มลดความร้อนแรงลงบ้าง จากตัวเลขตำแหน่งงานว่าง (Job openings) ค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และอัตราการว่างงานที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ย. 67 หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลดดอกเบี้ยไปก่อนหน้า และคาดว่าจะลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้ง

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องติดตามในครึ่งหลังของปีนี้ คือ การเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยจากผลสำรวจพบว่ามีโอกาสที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ซึ่ง Trump 2.0 จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหลายด้านทั้งด้านตลาดแรงงาน เศรษฐกิจ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งอาจกระทบกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนมากขึ้น

ในกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดี คาดว่านโยบายกีดกันการค้า ในแง่ของภาษีน่าจะรุนแรงมากขึ้น โดยจะเก็บภาษีสินค้านำเข้า 10% และสินค้าที่นำเข้าจากจีนจะเก็บภาษี 60% สำหรับนโยบายการคลังอาจทำให้รายได้น้อยลง จากนโยบายการสนับสนุนภาคธุรกิจผ่านการลดภาษีต่าง ๆ และนโยบายกีดกันแรงงานต่างชาติ อาจส่งผลต่อค่าแรงและมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อไม่ลดลงเร็วอย่างที่คาด

ขณะที่จีนยังเผชิญปัญหาความท้าทาย นอกจากประเด็นภาคอสังหาฯ แล้ว ยังมีความเสี่ยงจากนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่มีการเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจมีการยกระดับสงครามการค้า โดยตั้งแต่ปี 2561 สัดส่วนการนำเข้าจากสินค้าจากจีนมาสหรัฐฯ ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติก็ปรับลดลงด้วย

อย่างไรก็ตามจีนพยายามส่งออกสินค้าทั่วโลกดัมพ์ราคาแข่ง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลก ซึ่งหากจีนยังส่งออกสินค้าทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ใน 6-12 เดือนจะส่งผลให้สินค้าราคาลดลงและเงินเฟ้อที่วโลกลดลงด้วย แต่อย่างไรก็ตามจะเป็นการขยายดาวน์ไซด์ โดยหากส่งออกสินค้ามากเกินไปอาจส่งผลต่อค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลง รวมทั้งขยายความขัดแย้งกับประเทศอื่น ๆ ในตลาดโลก

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องจับตาคือการประชุมของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่สาม (China?s Third Plenum) และการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง (China?s Politburo) ในเดือนกรกฎาคม โดยคาดว่าทางการจีนจะออกมาตรการหนุนภาคอสังหาฯ เพิ่มเติม ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องจับตาต่อไป

นางสาวศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มุมมองตลาดหุ้นไทย Valuation ปัจจุบันไม่แพงที่ระดับ P/E 14 เท่า แต่ตลาดหุ้นไทยมีปัญหาด้านความเชื่อมั่น จากประเด็นในประเทศที่มีความไม่แน่นอน นักลงทุนจึงเลือกลงทุนในประเทศที่มีความมั่นคงมากกว่า รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยหลากหลาย หลายบริษัทที่ประกอบธุรกิจในไทยไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากมีความยุ่งยากทำให้ลดความน่าสนใจและความหลากหลายในตลาดหุ้นไทย ซึ่ง KBANK Private Banking ขายหุ้นไทยออกตั้งแต่ต้นปี และลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

KBank Private Banking แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนเพื่อสะสมและต่อยอดความมั่งคั่งในระยะยาว ออกเป็น 2 ส่วน

  • ส่วนแรกประมาณ 50-70% ให้ลงทุนเป็นพอร์ตหลัก (Core portfolio) โดยเลือกกองทุนผสมแบบ Risk-based approach ที่กระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งค่าความผันผวน (VIX Index) ที่ใช้หลักการจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบ มีกฎเกณฑ์ชัดเจน ไม่ขึ้นกับการคาดการณ์ของตลาดหรือผู้จัดการกองทุน ด้วยกลยุทธ์หลักที่บริหารเชิงรุกและยืดหยุ่นสูง สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของตลาดอย่างสม่ำเสมอ และมีการควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตตลอดเวลา โดย KBank Private Banking แนะนำให้ลงทุนในกองทุนกองทุน All Roads Series
  • ส่วนที่ 2 ประมาณ 30-50% เป็นพอร์ตเสริม (Satellite portfolio) โดยแบ่งการลงทุนใน

หุ้นกลุ่ม Growth ได้แก่ กองทุนหุ้นสหรัฐฯ ที่มีศักยภาพในการเติบโตที่โดดเด่น แม้ว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้นมามากแล้ว แต่ก็หนุนโดยกำไรสุทธิที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ราคาหุ้นในปัจจุบันวัดจากปัจจัยพื้นฐาน (Valuation) แล้ว ยังไม่ถือว่าราคาไม่แพง และยังมีโอกาสเติบโตได้อีก โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน K-USA

กองทุนหุ้นยุโรปขนาดกลางและเล็ก ที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากการลดดอกเบี้ยของ ECB โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน K-EUSMALL

กองทุนหุ้นเวียดนามที่กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อีกทั้งระดับราคาหุ้นในปัจจุบันวัดจากปัจจัยพื้นฐาน (Valuation) ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และในระยะยาวยังได้ประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในเวียดนามด้วย โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน PRINCIPAL-VNEQ

ตราสารหนี้ อาทิ พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (US Bond Yield) ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงและมีโอกาสปรับลงในระยะข้างหน้า เมื่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ FED ชัดเจนขึ้น ทำให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยมีความน่าสนใจ และยังมีโอกาสได้กำไรจากส่วนต่างราคาเมื่อ FED ปรับลดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ พันธบัตรรัฐบาลถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน K-GDBOND และแนะนำเสริมพอร์ตการลงทุนด้วยหุ้นกู้ในภูมิภาคเอเชีย ผ่านกองทุน K-APB ที่ให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง และมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำเนื่องจากเศรษฐกิจในเอเชียยังแข็งแกร่ง

การลงทุนทางเลือก เติมเต็มพอร์ตด้วยกองทุนทางเลือกที่มีกลยุทธ์ซื้อขายสกุลเงินหลักของโลก: ลงทุนในสกุลเงินหลักที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้น ผ่านการวิเคราะห์จากหลายปัจจัยพื้นฐาน ทั้งแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ ดุลการชำระเงิน รวมทั้งกระแสเงินไหลเข้า - ออก โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุน DAOL-FXALPHA-UI


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ