นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า นโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่วางเป้าหมายผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก และเพิ่มศักยภาพของสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 150 ล้านคนต่อปี เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) AOT อยู่ระหว่างเร่งดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานให้มีความพร้อมรองรับการเดินทางในอนาคต
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) โครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) งบประมาณ 12,500 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน คาดจะเปิดประมูลงานก่อสร้างไม่เกินเดือน พ.ย.67
และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ (South Expansion) วงเงินลงทุน 120,000 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารอีก 60 ล้านคนต่อปี เพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 512,000 ตารางเมตร อยู่ระหว่างศึกษาแผนแม่บท ในปี 67-68 ออกแบบปี 68-69 และคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 70
และโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันตก (West Expansion) โครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (Satellite 2: SAT-2) และโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เมื่อทุกโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่า ทสภ.จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
ส่วนทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) คาดจะเปิดบริการในเดือน ก.ย. 67 AOT คาดการณ์ว่า หากเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ทสภ.จะทำให้ในปี 2568 มีเที่ยวบินเพิ่มเป็น 75 เที่ยวบิน มีรายได้ 4,718.24 ล้านบาท ปี 2569 จะมีเที่ยวบิน 85 เที่ยวบิน มีรายได้ 8,561.54 ล้านบาท และปี 2570 จะมีเที่ยวบิน 94 เที่ยวบิน และมีรายได้ 9,090.52 ล้านบาท
- ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) อยู่ระหว่างดำเนินพัฒนา ทดม.เฟส 3 วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี โดยจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) พื้นที่ให้บริการกว่า 166,000 ตารางเมตร รองรับ 18 ล้านคนต่อปี และจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับ 22 ล้านคนต่อปี พื้นที่ให้บริการกว่า 210,800 ตารางเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าจะก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573
นอกจากนี้ AOT ยังมีแผนจะปรับปรุงพื้นที่กว่า 21,000 ตารางเมตร เพื่อก่อสร้างอาคารรับรองพิเศษสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet Terminal) รวมถึงกิจกรรมด้านการบินทั่วไป (General Aviation: GA) บริเวณด้านทิศใต้ของ ทดม.ด้วย
*เดินหน้าสร้าง 2 สนามบินใหม่ วงเงิน 1.5 แสนลบ.
- ท่าออกาศยานภูเก็ต (ทภก.)ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารกว่า 13 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนา ทภก. ระยะที่ 2 วงเงินงบประมาณ 6.21 พันล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มพื้นที่อีกกว่า 177,000 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572
- ท่าอากาศยานอันดามัน (ทภก. แห่งที่ 2) บนพื้นที่ 7,300 ไร่ งบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น รองรับได้ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอด 44 หลุมจอด คาดว่าจะตั้งอยู่ในตำบลโคกกลอย และตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ห่างจาก ทภก. 23.4 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 26 นาที ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ ตลอดจนกระบวนการจัดตั้งท่าอากาศยาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี
สำหรับภาคเหนือซึ่งมีผู้โดยสารหนาแน่นเช่นกัน AOT มีแผนจะเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานให้สามารถรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารได้มากขึ้น
- ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ปรับปรุงระยะที่ 1 วงเงินงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ มีพื้นที่กว่า 95,000 ตารางเมตร รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทำให้มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 66,600 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ ทชม.ในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 20 ล้านคนต่อปี โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569
- ท่าอากาศยานล้านนา (ทชม. แห่งที่ 2) บนพื้นที่ 8,050 ไร่ งบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารรองรับได้ 24 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น รองรับได้ 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอด 38 หลุมจอดรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ 32,000 ตัน คาดว่าจะตั้งอยู่ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ซึ่งห่างจาก ทชม. 22 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 32 นาที ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ ตลอดจนกระบวนการจัดตั้งท่าอากาศยาน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี
นายกีรติ กล่าวว่า จากการดำเนินการของ ทดม. ทภก. และ ทชม.ที่ผ่านมาในช่วงระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2566-30 มีนาคม 2567 เทียบกับช่วงก่อนดำเนินการ (ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 2565 ? 25 มีนาคม 2566) สามารถบริหารจัดการเที่ยวบินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย ทดม.สามารถเพิ่ม slot เที่ยวบินจากเดิม 50 เที่ยวบิน เป็น 57 เที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 12% รายได้เพิ่มขึ้น 520 ล้านบาท
ส่วน ทภก.สามารถเพิ่ม slot เที่ยวบินจากเดิม 20 เที่ยวบิน เป็น 25 เที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 18% รายได้เพิ่มขึ้น 640 ล้านบาท และ ทชม.ซึ่งได้ขยายระยะเวลาในการเปิดให้บริการเป็น 24 ชั่วโมง ทำให้มีผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 5% และมีรายได้เพิ่มขึ้น 80 ล้านบาท
*ทุ่มกว่า 1 หมื่นลบ.พัฒนา 3 สนามบินอุดร-บุรีรัมย์-กระบี่
สำหรับการเข้าบริหารท่าอากาศยาน 3 แห่งของกรมท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 นั้น เมื่อสามารถเข้าบริหารได้แล้ว AOT มีแผนจะพัฒนาทั้ง 3 ท่าอากาศยาน โดยมีวงเงินลงทุน 10,460 ล้านบาท
การพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี ให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 3.4 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น6.5 ล้านคนต่อปี เที่ยวบินเพิ่มเป็น 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง มีวงเงินลงทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท
และจะพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 780,000 คนต่อปี เพิ่มเป็น 2.8 ล้านคนต่อปี เที่ยวบินเพิ่มเป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง วงเงินลงทุนประมาณ 460 ล้านบาท
สำหรับท่าอากาศยานกระบี่จะพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 4 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 12 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินเพิ่มเป็น 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง วงเงินลงทุน 6,500 ล้านบาท