INTERVIEW: BEM ยิ้มรับปลดล็อกสายสีส้มสร้าง New S-Curve อนาคตปึ๊กลุ้นต่อสัมปทานทางด่วนยาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 15, 2024 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) นับถอยหลังเซ็นสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางชุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ค้างเติ่งมานาน รอลุ้นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) เสนอผลคัดเลือกเอกชนพื่อชงเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรุ่งนี้ หลังศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องตามศาลปกครองกลางช่วยปลดล็อกผลประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทจัดเตรียมเงินลงทุนโครงการรถไฟ้ฟ้าสายสีส้มไว้กว่า 130,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธากว่า 90,000 ล้านบาท ระบบรถไฟฟ้าและตัวรถไฟฟ้า 32 ขบวนกว่า 30,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสั่งรถไฟฟ้ามาเพิ่มเติมในสายสีน้ำเงิน 21 ขบวนเพื่อรองรับผู้โดยสารที่เชื่อมต่อมามากขึ้นด้วย

งานส่วนรถไฟฟสีส้มฝั่งตะวันออกที่ รฟม.ได้ดำเนินการงานโยธาเสร็จแล้ว เร่งให้ BEM ติดตั้งระบบเดินรถ โดยวางไทม์ไลน์เดินรถช่วงสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-สถานีสุวินทวงศ์ภายในเดือน พ.ค.71 หรือให้เวลา 3 ปีครึ่ง ส่วนโครงการฝั่งตะวันตกจะให้ บมจ.ช.การช่าง (CK) เข้ามารับงานโยธา คาดว่าจะพร้อมเปิดเดินรถปี 73 หรือภายใน 6 ปี

นายสมบัติ ระบุว่า การได้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มจะสร้าง New S-Curve ให้กับ BEM โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี รวมทั้งช่วยหนุนปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีการเชื่อมระหว่างกัน ณ สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ทำให้ถึงจุดคุ้มทุน (Breakeven) และเริ่มทำกำไรได้เร็วขึ้น หลังแบกภาระขาดทุนมานาน ทั้งนี้อายุสัมปทานของสายสีน้ำเงินจะหมดในปี 2593

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร มีจำนวน 28 สถานี แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร มี 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี) การก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ส่วนฝั่งตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

*ทางด่วนลุ้นได้ต่ออีก 22 ปีแลกลงทุน Double Deck-ลดค่าทางด่วน

ด้านธุรกิจทางด่วน BEM ได้เจรจากับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เข้าลงทุนทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) วงเงินลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยให้ BEM เป็นผู้ลงทุน แลกกับการขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ออกไป 22 ปี 5 เดือน ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาสัมปทานสิ้นสุดในปี 2601 จากเดิมที่ได้ขยายเวลาไปแล้วครั้งหนึ่งซึ่งสิ้นสุดสัมปทานปี 2578

อีกทั้ง กระทรวงคมนาคมต้องการลดค่าผ่านทางด่วนที่บางเส้นทางต้องผ่านหลายด่านเก็บเงินส่งผลให้ค่าผ่านทางสูงถึง 90 บาท/เที่ยว จึงเสนอให้ BEM ลดมาเป็น 50 บาท/เที่ยวสำหรับทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 โดยให้มีการปรับส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายให้กับ BEM เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 50%

*มั่นใจกำไร-รายได้โตต่อเนื่อง

นายสมบัติ กล่าวว่า ในปี 67 เบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะทำกำไรสุทธิ 3,600 ล้านบาท แต่ขณะนี้เขื่อว่าจะทำได้ทะลุเป้าหมาย เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารเติบโตได้ดีกว่าคาด โดยเติบโต 15% จากปีก่อนที่มีผู้โดยสารเฉลี่ย 3.9 แสนเที่ยว/วัน มาเป็น 4.1 แสนเที่ยว/วันในช่วงครึ่งปีแรก และสิ้นปี 67 ตั้งเป้าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 4.3 แสนเที่ยว/วัน

ในปี 68-70 แม้จะยังไม่มีรายได้ใหม่จากรถไฟฟ้าสายสีส้มและทางด่วน Double Deck เข้ามา แต่บริษัทก็คาดว่ารายได้เติบโต 4-5% ต่อปี และกำไรก็เติบโตในทิศทางเดียวกันที่ 4-5% เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยคาดว่าจะขยายตัวปีละ 3-4% ปัจจุบันในวันธรรมดามีผู้โดยสาร 5 แสนเที่ยว/วัน ส่วนวันเสาร์ 3 แสนเที่ยว/วันและวันอาทิตย์ 2.5 แสนเที่ยว/วัน

https://youtu.be/o9KaypwyNRw


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ