บล.เอเชีย พลัส ปรับลดเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) สิ้นปี 67 มาอยู่ที่ 1,450 จุด ลดลงจากเดิม 1,570-1,580 จุด และแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) คาดว่าจะอยู่ที่ 91.4 บาท/หุ้น โดยมองว่า SET ไร้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่แนวรับให้ไว้ที่ 1,280 จุดนั้น มองว่าตลาดหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ซึ่งหากมีเม็ดเงินจาก ThaiESG ที่ปรับหลักเกณฑ์ใหม่ และกองทุนวายุภักษ์ที่ขยายวงเงินเพิ่มเติมเข้ามาจะช่วยผลักดันให้ SET ไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่า ประเมินภาพรวมการลงทุนของ SET ช่วงไตรมาส 3/67 มีโอกาสผ่านพ้นจุดต่ำสุด หลังจากเริ่มเห็นหลายปัจจัยช่วยพยุง ทั้งปัจจัยภายนอกประเทศที่ภาพเศรษฐกิจโลกดูผ่อนคลายลงจากความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยมีน้อยลง ท่ามกลางวัฏจักรดอกเบี้ยโลกขาลงเริ่มชัดเจน โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3/67 เชื่อว่าจะช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยน หนุนให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพโดยทยอยแข็งค่าได้มากขึ้น
และปัจจัยภายในประเทศ เริ่มจากสถานการณ์การเมืองอาจมีแรงกดดันลดลง หลังจากคดีความต่างๆ เริ่มเห็นถึงกระบวนการที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุด (BOTTOM OUT) จากหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายภาครัฐ (G) ภาคการการลงทุน (I) รวมถึงภาคการบริโภค (C) จะเป็นตัวช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจ (GDP) ทยอยเติบโตเป็นขั้นบันได โดยทั้งปี 67 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาด GDP ปี 67 จะเติบโตได้ราว 2.6%
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/67 จะเติบโตได้จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ รวมทั้งมตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ Digital Wallet ที่จะส่งผลบวกต่อเนื่องไปจนถึงปี 68 แต่การเติบโตระยะถัดไปก็ยังต้องติดตามต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังติดปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะต้องเร่งแก้ไขด้วยการหารายได้ใหม่ ๆ เข้ามา
"อยากเห็นภาครัฐดึงดูดนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น New Economy ซึ่งหากกลุ่มดังกล่าวเติบโตตามเทรนด์โลก หนุนให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตตามไปด้วย"นายเทิดศักดิ์ กล่าว
นายเทิดศักดิ์ กล่าวเพิ่มว่า แม้การลดดอกเบี้ยในประเทศไทยอาจไม่เกิดขึ้นในปีนี้ แต่ในช่วงไตรมาส 3/67 ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าลงทุนมากขึ้นจากหลายปัจจัย ดังนี้
1.มุมกำไรบริษัทจดทะเบียนงวด ไตรมาส 2/67 ที่มีโอกาสเติบโตทั้ง YOY เด่น จากฐานกำไรงวดไตรมาส 2/66 ที่ต่ำกว่าปกติ และทรงๆตัว QoQ พร้อมกับมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมันยืนระดับสูงหนุนให้กำไรงวดไตรมาส 2/67 มีโอกาสอยู่ในกรอบ 2.3-2.7 แสนล้านบาท
2.มุม Valuation SET จะเห็นแนวรับสำคัญทางพื้นฐานที่บริเวณ 1,300 จุด มี PER67F ที่ 14.2 เท่า (-1SD ในรอบ 10 ปี) และเป็นระดับต่ำสุดรองจากช่วงวิกฤตโควิดปี 63 ขณะที่ในเชิง PBV มีค่าที่ 1.2 เท่า (-2SD ในรอบ 10 ปี), Dividend Yield 3.5% (+1SD ในรอบ 10 ปี)
3.มาตรการสร้างความเชื่อมั่นของ ตลท. เริ่มจาก 1 ก.ค.67 ประกาศการใช้กฎ UPTICK RULE ช่วยลดการทำธุรกรรม SHORT SELL ได้อย่างมีนัยสหคัญ บวกกับคาดหวังเม็ดเงินจาก ThaiESG เงื่อนไขใหม่ที่อาจไหลกลับเข้ามาหนุนตลาดหุ้น 6-7 หมื่นล้านบาท และหนุนให้กองทุนลดสถานะเงินสดและซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปี อีกทั้งมีกระแสการฟื้นกองทุนรวมวายุภักษ์แบบการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำเพื่อพยุงตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติม
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำหุ้นพื้นฐานดีที่คาดว่าจะได้เม็ดเงิน ThaiESG ใหม่เข้ามาหนุน กับ 2 ธีมหลัก คือ 1.หุ้นได้ประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ AOT, CK และ 2.หุ้นปันผลระหว่างกาลสูง SIRI, ADVANC, TTB, TU
ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงไตรมาส 3/67 การคาดการณ์ Bond yield ไทยยังคง Sideway Down แนะนำทยอยซื้อหุ้นกู้กลุ่ม Investment Grade
โดยทีมผลิตภัณฑ์ตลาดรอง บล.เอเชีย พลัส ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดตราสารหนี้ไทยยังไปได้ดี และเป็นที่ต้องการของนักลงทุน โดยเฉพาะตราสารหนี้ไทยที่มีอายุไม่ยาวมากและมีอันดับเครดิตตั้งแต่ Invesetment grade ขึ้นไป ข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) แสดงให้เห็นว่าสิ้นไตรมาส 2/67 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างเท่ากับ 17 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.7% จากสิ้นปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นหลัก
ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 494,371 ล้านบาท โดย 95% เป็นการออกของหุ้นกู้ในกลุ่ม Investment grade ส่วนอีก 5% เป็นกลุ่ม High yield ซึ่งมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าการออกของกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นหุ้นกู้มีประกันในสัดส่วนที่สูงถึง 81% สำหรับครึ่งแรกปี 67 สูงขึ้นจาก 48% ในปี 66 และมีอายุการออกเฉลี่ยที่ 2.2 ปี ลดลงจาก 2.5 ปี ในปี 66
กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ของนักลงทุนต่างชาติในครึ่งปีแรก เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยทั้งในไตรมาส 1 และ 2 รวมเป็นมูลค่าการขายสะสมสุทธิ 66,514 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงยาวนานกว่าคาด ผนวกกับพันธบัตรรัฐบาลอินเดียถูกรวมในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ของ J.P. Morgan (GBI-EM) ส่งผลให้ตราสารหนี้ไทยมีสัดส่วนในดัชนีลดลง
นายลัพธ์พร ปานะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ตลาดรอง บล.เอเชีย พลัส คาดว่าตลาดตราสารหนี้ในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ Yield curve ของไทยยังจะมีการเคลื่อนไหวแบบ Sideway Down จากการสำรวจของ ThaiBMA ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในปี 67 โดยมี 43% ที่คาดว่ามีโอกาสที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยลงในรอบเดือน ธ.ค.ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี
โดยช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้เริ่มเห็น Flow การเข้าซื้อหุ้นกู้ระยะยาวมากขึ้นโดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีการปรับตัวลดลงสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ยังถือว่าหุ้นกู้ในตลาดเป็นทางเลือกที่มั่นคงและปลอดภัย
กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงนี้ ภายใต้สภาวะตลาดดอกเบี้ยที่ยังสูง แต่ก็มีแนวโน้มปรับตัวลงในอนาคต คือ ทยอยสะสมซื้อหุ้นกู้ ไม่ว่าเป็นการลงทุนผ่านตลาดแรกหรือตลาดรอง หรือลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมองว่าสามารถขยายอายุการลงทุนให้ยาวขึ้นได้ เช่น 5-7 ปี โดยหากปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าเริ่มมีการลดอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนจะได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลตอบแทนในตลาดปรับตัวลดลง หรือกล่าวได้ว่า มีโอกาสขายทำกำไรได้ในอนาคตนั่นเอง
ในช่วงของครึ่งปีแรกที่ผ่านมานั้นพอร์ตคำแนะนำลงทุนของของฝ่ายกลยุทธ์ต่างประเทศของ บล.เอเชีย พลัส ให้ผลตอบแทน ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 15.47% ซึ่งผลตอบแทนส่วนมากมาจากหุ้นในสหรัฐอเมริกา เช่น 7Magnificent, Semiconductor, Ai Theme แต่ก็มีอีกหลายตลาดที่ให้ผลตอบแทนดี ได้แก่ ญี่ปุ่น, อินเดีย และเวียดนาม คำถามสำคัญคือ เวลาที่เหลือในปีนี้หุ้นกลุ่มเดิมแต่ยังคงเป็นผู้นำตลาดอีกหรือไม่
ฤดูกาลประกาศงบการเงินใกล้เข้ามาเป็นตัวกำหนดตัวแรกว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะออกมาหน้าไหน เนื่องจากที่ผ่านมาความหวังในเรื่อง AI ค่อนข้างสูง และมาพร้อมกับฐานกำไรที่สูงของบริษัทในปีก่อน ถ้าผลออกมาดีกว่าคาดก็จะช่วยให้ Re-rating ของ PIE Ratio ที่สูงถึง 24 เท่า ในตอนนี้ให้ไปต่อได้ แต่หากไม่ใช่ ดัชนีก็จะเกิดการปรับฐานลงมาได้
โดยนักวิเคราะห์อย่าง Morgan Stanley, Bank of America ได้ออกมาบอกว่าระวังการปรับฐานและให้ Take Proft เสียบ้าง ตัวกำหนดถัดมา คือ เรื่องลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่ปัจจุบันคาดว่าน่าจะลดดอกเบี้ยครั้งแรกอยู่ที่เดือนกันยายนโดยการประชุมครั้งล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา งประธานธนาคารกลาง นายเจอโรม พาวเวลล์ ได้ระบุว่าจะไม่รอจนกว่าเงินเฟ้อปรับตัวลงอยู่ที่เป้าหมาย 2% ซึ่งทำให้ตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้งนั่นเอง
ตัวกำหนดสุดท้าย คือ การเลือกตั้งสหรัฐในเดือน พ.ย. คะแนนความนิยมของอดีตประธานนาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากหลังจากนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันถูกโจมตีทั้งในเรื่องของการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจหลังโควิด ประกอบกับการมีอายุมากถึง 81 ปี
หากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง ตลาดหุ้นน่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายการลดภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีบางกลุ่มที่อาจเสียประโยชน์ โดยเรื่องสำคัญ ได้แก่ สงครามการค้า ซึ่งจะมีผลต่อตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานสะอาดที่อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
กลยุทธ์ที่เหมาะสม จึงมองว่าการ Take Proft บางส่วนบ้าง และบริหารพอร์ตการลงทุนด้วย Structured Notes ในหุ้นกลุ่มที่ทำให้เราได้กำไรมาตอนต้นปี หากหุ้นผันผวนยังพอมีเกราะคุ้มกันได้ระดับหนึ่งหากปลายปีฟ้าฝนเป็นใจให้ดอกเบี้ยลดลงบ้าง วันนั้นน่าจะเห็น Sector Rotation ไปยังหุ้นกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กอีกครั้ง