ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ย้ายฐานการบินกลับดอนเมือง 1 ต.ค. เล็งถก AOT ปรับพื้นที่เฟส 3

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 16, 2024 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เข้าใจและมีความพร้อมในการกลับมาให้บริการทุกเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งในการเชื่อมต่อกับเครือข่ายการบินของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่มีทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศกว่า 93 เส้นทาง สามารถร่วมกันทำโปรโมชัน และส่งเสริมให้ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เป็นศูนย์กลางการบินราคาประหยัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ได้ Slot การบินเหมือนที่เคยบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งทำการบิน 12-13 เที่ยวบิน/วัน หรือ 80 เที่ยวบิน/สัปดาห์

ในปี 67 สายการบินไทยแอร์เอเชีย คาดมีผู้โดยสาร 20-21 ล้านคนจากปีก่อนที่ 18.9 ล้านคน ส่วนไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ คาดปีนี้มีผู้โดยสาร 2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.3 ล้านคน และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่า 2 สายการบินรวมกันจะมีผู้โดยสาร ราว 40-45 ล้านคน/ปี โดยไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ตั้งเป้าใน 5 ปีจะมีจำนวนผู้โดยสาร 10 ล้านคน/ปี

อีกทั้งไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ มีแผนขยายฝูงบินจากปัจจุบันมีเครื่องบินแอร์บัส 330 จำนวน 8 ลำ ธ.ค.นี้รับมอบ 3 ลำ สิ้นปี 67 มี 11 ลำ เทียบช่วงก่อนเกิดโควิดมี 12 ลำ โดยมีแผนรับมอบเครื่องบิน 3-5 ลำ/ปี โดยภายใน 5 ปีจะมีฝูงบิน 30 ลำ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพตลาด ขณะที่ไทยแอร์เอเชียมีฝูงบิน 57 ลำในปัจจุบัน

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า การย้ายฐานการบินของไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ มาที่สนามบินดอนเมืองจะช่วยขยายศักยภาพของสายการบิน และน่าจะช่วยเพิ่มผู้โดยสาร และช่วยลดต้นทุน ราว 10-12% โดยเฉพาะต้นทุนน้ำมัน

"การย้ายฐานการบินกลับมาที่ดอนเมือง ถ้ามองไปในอีก 5 ปีข้างหน้า ศักยภาพการเจริญเติบโตของดอนเมืองมีแนวโน้มดีกว่าสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะในเรื่องของสลอตการบิน"

ส่วนแนวคิดการปรับอาคารผู้โดยสารเป็น "แอร์เอเชีย เทอร์มินัล" ล่าสุดได้หารือกับ AOT เกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ของท่าอากาศยานดอนเมือง ทางแอร์เอเชียขอมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ซึ่งแอร์เอเชียเป็นห่วงเรื่องการเชื่อมต่อเที่ยวบิน (Connecting) เน้นความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นหลัก ระหว่างเที่ยวบินระหว่างประเทศกับในประเทศให้คล่องตัวที่สุด มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลดีต่อการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย สามารถทำราคาตั๋วเครื่องบินจูงใจผู้โดยสารได้ จะได้มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้น

"สมมติว่าถ้าลงเครื่องบินเส้นทางระหว่างประเทศ แล้วต้องเดินเพื่อต่อเที่ยวบินอีก 2 กิโลเมตร ก็ไม่มีใครอยากไป หรือทุกเที่ยวบินเชื่อมต่อด้วยรถบัสก็ไม่สะดวก เชื่อว่าทั้งหมดนี้มีวิธีบริหารจัดการ สามารถปรับเปลี่ยนได้ ไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าอาคารผู้โดยสารหลังนั้น ๆ จะต้องรองรับเฉพาะเที่ยวบินในประเทศหรือระหว่างประเทศเท่านั้น ในอาคารเดียวกันสามารถรองรับเที่ยวบินทั้งในและระหว่างประเทศ ในเมื่อยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง ยังเป็นแค่พิมพ์เขียว เราก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ ยกตัวอย่างเช่น AOT อาจจะมีการปรับเปลี่ยนให้สายการบินอื่นย้ายไปอยู่อาคารใหม่ แล้วให้เราใช้อาคารเดิมก็สามารถทำได้ ช่วยให้เที่ยวบินในเครือแอร์เอเชียเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น"

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า ตนเพิ่งกลับจากซาอุดีอาระเบีย เห็นว่าน่าสนใจที่จะเปิดตลาด เพราะมีระยะทางบินราว 5-6 ชม.ใกล้เคียงกับเส้นทางญี่ปุ่น ซึ่งแผนของไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์จะเพิ่มเส้นทางบินระย 5-6 ชม.ก่อนในช่วง 2-3 ปีก่อนที่จะเพิ่มจุดบินที่บินไกลขึ้น ได้แก่ ประเทศในยุโรป ที่จะเป็นจุดบินถัดไป

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 67 ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ มีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ย 86% โดยเส้นทางญี่ปุ่น เกาหลี Load Factor ขึ้นไปถึง 90% ขณะที่เส้นทางจีน (เซี่ยงไฮ้) Load Factor เพียงกว่า 60%

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง ในไตรมาส 3 อ่อนตัวลงตามฤดูกาล และจะกลับมาดีในไตรมาส 4 ที่เป็นไฮซีซั่น ซึ่งมีแผนเปิดจุดบินใหม่ 2-3 เส้นทาง ได้แก่ นิวเดลี อินเดีย ,เซ็นได ญี่ปุ่น เป็นต้น

ปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (เที่ยวบินรหัส XJ) มีเที่ยวบินตรงเข้าออกสู่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โตเกียว โอซาก้า ซัปโปโร นาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า AOT พร้อมส่งเสริมนโยบายผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของโลก เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยผลักดันให้ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เป็นท่าอากาศยานแบบ POINT-TO-POINT ที่สะดวก รวดเร็ว ครบครัน เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ยกระดับการบริการของ ทดม. ซึ่งปัจจุบัน AOT อยู่ระหว่างเร่งดำเนินโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี พร้อมเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศให้มีความพร้อมรองรับ การเดินทางในอนาคตสอดคล้องกับบทบาททางยุทธศาสตร์ "ท่าอากาศยานที่รวดเร็ว และสะดวกสบาย" หรือ "Fast and Hassle-free Airport"

การที่ไทยแอร์เอเชียเอ็กกลับมาให้บริการที่ ทดม. เปิดโอกาสให้ ทดม.ได้แสดงศักยภาพในการเป็นท่าอากาศยานที่พร้อมรองรับผู้โดยสาร จากเที่ยวบินระหว่างประเทศ กลายเป็น Low-Cost Hub และสอดคล้องกับโครงการพัฒนา ทดม.ระยะที่ 3 โดยเชื่อมั่นว่า ทดม.จะสามารถติดอันดับที่ดีขึ้นได้ในอนาคต นายกีรติ กล่าวว่า การจัดการบริหารให้ ทดม.มีการให้บริการผู้โดยสารได้อย่างประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ มีผู้โดยสารในสัดส่วน 20% ของผู้โดยสารระหว่างประเทศ และไทยแอร์เอเชียมีสัดส่วนผู้โดยสาร 30% ของผู้โดยสารในประเทศ ถือว่ามีกลุ่มที่มีผู้โดยสารใหญ่มาก จึงต้องมีการจัดวางการให้บริการผู้โดยสารระหว่างเส้นทางในประเทศและต่างประเทศให้เกิดความคล่องตัว มีการเชื่อมต่อเที่ยวบินได้ง่าย

"เรามอง Positioning ให้เหมาะกับดอนเมือง ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ เติบโตเร็ว มีศักยภาพ การย้ายมาดอนเมืองตรงเป้าของดอนเมือง และเชื่อมต่อไปไฟลท์ในประเทศได้เลย"นายกีรติ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. กล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคของประเทศไทย ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องร่วมมือและมีหลายมิติที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน นอกจากการกระตุ้นอุปสงค์ (Demand) แล้ว การทำให้เกิดอุปสงค์ของตลาด (Market Demand) โดยการเพิ่มขีดความสามารถของระบบการบินให้หลากหลายขึ้น ถือเป็นส่วนสำคัญไปสู่เป้าหมาย

การย้ายฐานปฏิบัติการของ ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการที่สำคัญดังกล่าว ซึ่งส่งผลดีต่อการบริหารจัดการระบบสนามบินที่สำคัญของประเทศ โดยการทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น สำหรับการพัฒนาเป็นสนามบินเพื่อการเชื่อมต่อเที่ยวบินระหว่างประเทศของการเดินทางในระยะไกล(Long-haul flights) ในขณะที่สนามบินดอนเมืองก็มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในการเป็นสนามบินที่เชื่อมโยงเที่ยวบินระหว่างประเทศในระยะใกล้ถึงปานกลาง (Short-haul and Medium-haul flights) กับเที่ยวบินภายในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการวางแผนและพัฒนาระบบสนามบินเชิงบูรณาการของประเทศ (National Plan of Integrated Airport Systems) ที่เป็นหนึ่งในแผนหลักภายใต้เป้าหมายศูนย์กลางการบินของไทยตามนโยบายรัฐบาลที่ กพท. กำลังพยายามขับเคลื่อนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอยู่ในขณะนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ